นายบรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด ในเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวว่า "ถ่านหินเป็นวัตถุดิบพลังงานที่มีความจำเป็นในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เอสซีจีจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบการจัดเก็บและขนส่งถ่านหินเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ล่าสุด เอสซีจีลงทุน 400 ล้านบาทก่อสร้างระบบจัดเก็บถ่านหินแบบปิดแห่งแรกของไทย ด้วยเทคโนโลยีระดับสากลเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาถ่านหินคุณภาพสูง จัดซื้อ กองเก็บ คัดแยก และขนส่งให้กับลูกค้า ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าระบบดังกล่าวจะลดผลกระทบกับชุมชนและยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมถ่านหินของ
ประเทศไทย"
จุดเด่นของระบบจัดเก็บถ่านหินของเอสซีจี คือ การลำเลียง จัดเก็บและขนถ่ายถ่านหินเป็นระบบปิดตลอดทั้งกระบวนการ เริ่มจากการขนถ่ายถ่านหินจากเรือลงสายพานแทนการใช้แรงงานคนตักใส่ และใช้สเปรย์น้ำพ่นเพื่อลดการฟุ้งกระจายของถ่านหิน นอกจากนั้นยังมีการคัดแยกวัสดุปลอมปน และติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นก่อนนำเข้าโกดังกองเก็บ
ภายในโรงกองเก็บถ่านหินระบบปิดยังมีเครื่องจักรกองถ่านหินแทนการใช้แรงงานคน รวมถึงติดตั้งเครื่องกำจัดฝุ่น ถุงกรองฝุ่นตลอดแนวสายพาน ก่อนนำถ่านหินไปเก็บไว้ในไซโลปิดขนาดใหญ่เพื่อเตรียมจ่ายส่งให้ลูกค้า
เอสซีจีกำหนดให้รถบรรทุกทุกคันต้องคลุมผ้าใบมิดชิด ทำความสะอาดล้อรถด้วยบ่อล้างล้อและพ่นสเปรย์น้ำรอบคันรถก่อนออกจากโรงงานทุกครั้งเพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย นอกจากนั้นยังได้ติดตั้งเครื่องเก็บเสียงบริเวณสายพานเพื่อลดเสียงรบกวน และบ่อบำบัดน้ำภายในพื้นที่เพื่อนำน้ำกลับมาใช้หมุนเวียนภายในโครงการ
นอกจากนี้ เอสซีจียังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรักษ์ชุมชนที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และธุรกิจนำเข้าถ่านหินในพื้นที่ อ.นครหลวง โดยวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนามาตรฐานการทำงานและการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม ให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างเกื้อกูลกัน
นายวีระวงค์ วงศ์วัฒนะเดช ประธานกลุ่มรักษ์ชุมชน กล่าวว่า "กลุ่มรักษ์ชุมชนมีแนวทางการทำงานคือ พัฒนาระบบการขนส่งและท่าเรือให้ดีกว่ามาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด รักษาสิ่งแวดล้อม และจัดกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สมาชิกทั้ง 9 บริษัททำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เช่น การปรับปรุงโรงงานและท่าเรือ ตรวจสอบและวัดฝุ่น 2 ครั้งต่อปี และสำรวจความต้องการของชุมชนเพื่อนำมาจัดกิจกรรม CSR เช่น การซ่อมและเก็บกวาดถนน การสนับสนุนการศึกษาและด้านกีฬา โดยกลุ่มรักษ์ชุมชนพร้อมให้คำแนะนำผู้ประกอบการร่วมกันยกระดับการจัดเก็บถ่านหินให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน"