ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จาร์เค็น จำกัด บริษัทดีไซน์ชั้นนำของไทย เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดที่ปรึกษา และออกแบบในประเทศไทย รูปแบบเดียวกับจาร์เค็นว่า "มูลค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและออกแบบในไทยของภาครัฐและเอกชนรวมกันประมาณ 60,000 ล้านบาท (แบ่งเป็นเอกชน 15% ของมูลค่าตลาดรวม) ในขณะที่มูลค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการอย่างเดียวมี ประมาณ 10% ของ 60,000 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นทุกปีตาม GDP และจำนวนโครงการที่มากขึ้นในแต่ละปี ภายหลังจากที่บริษัทฯได้เดินหน้าสู่บริษัทดีไซน์อย่าง เต็มตัว (Multi disciplinary design firm) เมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา โดยดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทดีไซน์หนึ่งเดียวที่ให้บริการตั้งแต่งานออกแบบสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมภายใน และตกแต่งก่อสร้าง รวมถึงงานกราฟฟิกดีไซน์ ที่ปรึกษาการพัฒนาแบรนด์สินค้า และทำผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และแฟชั่น ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าไม่ว่าจะเป็นด้านค้าปลีก (Retail) หรือด้านการพาณิชย์ (Commercial) ที่เข้ามาใช้บริการ เพราะเราสามารถคิดให้ครบตอบโจทย์ทุกมุมมองของการพัฒนาธุรกิจ ทำให้ประสิทธิภาพของงานที่ออกมากลายเป็น ภาพเดียวกัน ลดความผิดพลาดของงาน และลดเวลาให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้เร็วขึ้น เรียกได้ว่าเป็น การตอบโจทย์ความต้องการ และรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคสังคมนี้ได้อย่าง 360º ส่งผลให้ปีที่ผ่านมา มีรายได้เติบโตประมาณ 425 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส1/ 2558 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการขยายงานบริการที่ปรึกษาและพัฒนาองค์กรด้วยแนวความคิดเชิงออกแบบ หรือ concept 'Design Thinking' โดยเป็นการนำต้นแบบธุรกิจ (Business Model) มาจากบริษัท คอนซูรัส ประเทศสิงคโปร์ และมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งจะเข้าไปศึกษาธุรกิจ การจัดการ และการดำเนินการในเชิงลึกขององค์กร และช่วยแก้ไขปัญหาภายในองค์กร
เพื่อปฏิรูปและเสริมให้โครงสร้างการบริหารและการทำงานของทั้งองค์กร ได้เดินตามวัตถุประสงค์ขององค์กรอย่างแข็งแกร่ง และเติบโตจากภายในสู่ภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการพัฒนาให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน" ดร.กุลเดช กล่าว และเพิ่มเติมถึงที่มาของความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า
"หลักๆ มาจากแนวคิดของทั้ง 2 องค์กรที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของการผลักดันและพัฒนาองค์กรไทยให้เติบโตในธุรกิจโลกอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง โดยการนำเอาวิธีคิดในการออกแบบ (Design Thinking) มาบริหารจัดการ เพราะเรามองว่าธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ แผนการดำเนินธุรกิจ ภาพลักษณ์ บุคลากร ตลอดจนการสื่อสาร/การประชาสัมพันธ์ล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และควรดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเรามุ่งหวังให้องค์กรเหล่านี้กลายเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งขึ้น และเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้ภาพรวมธุรกิจของไทยดีขึ้น สำหรับ JARKEN ที่เราเติบโตจากธุรกิจดีไซน์ สร้างสรรค์งานออกแบบมากกว่า 12 ปี แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เหมือนใคร คือการที่เราคิดอย่างนักการตลาดมาโดยตลอด และไม่ได้มองว่าเป็นบริการเพื่อความสวยงาม แต่เรามองถึงการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป"
ทั้งนี้จากกระบวนการที่บริษัทฯ ต้องเข้าไปศึกษาธุรกิจของลูกค้าในเชิงลึก การทำ Research เพื่อนำเสนอรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสม สามารถส่งผลให้ธุรกิจของลูกค้า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และสามารถของการให้บริการหรือการผลิตที่ทั่วถึง และตรงตามกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ตัดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น หรือซ้ำซ้อนออกไป ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก เพิ่มโอกาสและการเติบโตของธุรกิจใหม่ๆ และ มีความชัดเจนในการทำกิจกรรมทางการตลาด และภาพลักษณ์ที่ชัดเจนต่อผู้บริโภคหรือคู่ค้า
"Design Thinking" นี้ จะไม่เพียงช่วยให้คำปรึกษาและช่วยพัฒนาองค์กรในด้านการบริการ การผลิต เท่านั้น แต่รวมถึงทุกส่วนขององค์กร เช่น การบริหารทางการเงิน การบริหารบุคลากร การสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ การตลาด (เช่นงานกราฟฟิกต่างๆ กิจกรรมทางการตลาด) และอื่นๆ แบบองค์รวม จึงมี ความแตกต่างจากงานบริการให้คำปรึกษาด้านการตลาดทั่วไปอย่างชัดเจน"
ดร.กุลเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า "เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวยังเป็นธุรกิจใหม่ คาดว่ารายได้หลักหลังจากนี้จะเติบโตขึ้นอีก 5% และคาดว่าจะสูงขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งในทางกลับกัน บริษัทฯ มองว่าลูกค้าที่มาใช้บริการนี้จะได้รับผลดีในหลายๆ ด้านแล้วจะช่วยส่งผลดีให้กลุ่มลูกค้าของบริษัทฯมากกว่า โดยสัดส่วนลูกค้า 80% เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสัดส่วน 20% เป็นลูกค้าธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจเพื่อการพาณิชย์ โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก คือ
1.ธุรกิจก่อสร้าง (Construction)
2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real estate and property management)
3.กลุ่มธุรกิจด้านการเงินและธนาคาร (Banking)
4.อุตสาหกรรมผลิต (Manufacturing)
5.การบริการและการจัดการท่องเที่ยว (Hospitality)
ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงของปัญหาภายในองค์กรค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของระบบโครงสร้างการทำงาน ความแตกต่างของบุคลากร ศักยภาพของการให้บริการหรือการผลิต เพื่อผลักดันให้องค์กรเดินไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 58 นอกจากบริษัท JARKEN มีแผนการขยายตลาดในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นแล้ว ยังรวมไปถึงการขยายไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการเปิดตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการศึกษาตลาด เร็ว ๆ นี้ บริษัทจะเข้าไปร่วมในงาน "Myanmar Build and Decor 2015" ซึ่งเป็นงานที่จัดให้ผู้ที่อยู่ในธุรกิจดังกล่าว ได้มีโอกาสเปิดตลาดไปยังกลุ่มนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม รีสอร์ท และที่พักอาศัย ได้พบปะ พูดคุย และแนะนำการให้บริการในพม่า ในเดือนตุลาคม 2558 นี้
โดยในปี 2558 นี้บริษัทได้ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ไว้ที่ประมาณ 480 ล้านบาท หรือโตขึ้นประมาณ 15% จากปี 2557 ที่ผ่านมา