น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรม สบส.ขานรับนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข และได้วางแนวทางการดำเนินงาน ในข้อ 1 การพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติเพื่อเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ซึ่งกรม สบส.ได้รับสนองโครงการพัฒนาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาหน่วยพยาบาลที่มีอยู่ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ห่างไกลให้เป็น "สุขศาลาพระราชทาน" เพื่อเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพของนักเรียนและประชาชนในถิ่นทุรกันดารทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2549 ได้มีการจัดโครงการสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และในปี 2558 นี้ มีได้กำหนดเป้าหมายเดิมจำนวน 9 แห่ง เพิ่มอีก 7 แห่ง รวมเป็น 16 แห่ง ได้แก่ 1.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแสนคำลือ2.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ 3.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึก 4.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่จันทะ 5.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลตองคุ 6.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทิไล่ป้า7.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านไอร์บือแต 8.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านละโอ 9.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านไบก์ 10.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ 11.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมาก12. โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ 13.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนรางวัลอินทิราคานธี14.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมรว.เฉลิมลักษณ์จันทรเสน 15.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านลีนานนท์ และ16.ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยก๊ก เพื่อให้การบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานแก่ยาวชน ประชาชนในถิ่นทุรกันดารและแนวชายแดนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพิ่มโอกาสเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน ตลอดจนให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
นอกจากนี้ยังมีภารกิจหลักในข้อ 3.การพัฒนาส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคประชาชนทุกกลุ่มวัย ป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพ คุ้มครองผู้บริโภค ด้วยความร่วมมือทุกภาคส่วน ให้ประชาชนมีโอกาสร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ เป็นการอภิบาลแบบเครือข่าย เอื้อระบบสุขภาพแห่งชาติ เชื่อมประสานทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน โดยกรม สบส. เข้าเกณฑ์การคัดเลือกรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2558 ในประเภทพัฒนาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ซึ่ง กรม สบส. ได้ดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำหน้าที่ในการ "แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี" ซึ่งปัจจุบันมี อสม. จำนวน ๑,๐๔๐,๐๐๐ คนทั่วประเทศ เน้นการถ่ายทอดความรู้ กระตุ้นเตือน ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องตามแนวสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ เพื่อการมีสุขภาพอนามัยแข็งแรงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน