ฟีโบ้ มจธ.เปิดมุมมองจัดระบบอัตโนมัติสู่โรงพยาบาลไทย

พฤหัส ๐๓ กันยายน ๒๐๑๕ ๑๔:๕๙
แก้ปัญหาโรงพยาบาล หยุดพฤติกรรมคนไทยรอรับยานานเป็นชั่วโมง มจธ. ร่วมกับ TCELS และบ.สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด เปิดตัว B-Hive1 หุ่นยนต์ลำเลียงยาอัตโนมัติ กับความภาคภูมิใจในครั้งแรกของฝีมือนักวิจัยไทย ช่วยแบ่งเบาภารกิจสำคัญของเภสัชกร ลดความผิดพลาด ด้วยความเร็วในการจัดยา 20 วินาทีต่อใบสั่งยา

ผู้ใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐเป็นประจำคงเคยประสบปัญหาเดียวกันที่เจอเกือบทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล นั่นคือระยะเวลาในการรอรับยาที่ยาวนาน เนื่องจากคนไข้จำนวนมหาศาลต่อวัน อีกทั้งเภสัชกรที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจัดยาจำนวนไม่น้อยสำหรับคนไข้แต่ละคน จึงเกิดการพัฒนา B-Hive1 หรือ "หุ่นยนต์ลำเลียงยาอัตโนมัติ" ขึ้นโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด

ดร.ปราการเกียรติ ยังคง จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. เปิดเผยว่า ระบบจ่ายยาอัตโนมัติเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศแต่เหตุผลที่ต้องพัฒนาขึ้นมาใหม่ ก็เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริการสุขภาพให้รองรับกับบริบทของสังคมประเทศไทย B-Hive1 จึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ที่มาจากเอกชน อุตสาหกรรม หรือสังคมอย่างแท้จริงตามวิสัยทัศน์ของ มจธ.

"โจทย์เราคือข้อจำกัดที่ว่าจำนวนเภสัชกรไม่สัมพันธ์กับจำนวนคนไข้ ความรวดเร็วในการจ่ายยา รวมถึงข้อจำกัดด้านพื้นที่การปฏิบัติงาน และเรามองว่าเทรนด์ของระบบอัตโนมัติกำลังมาซึ่งไม่ใช่แค่งานด้านการแพทย์แต่ตอนนี้ใครก็อยากได้ระบบอัตโนมัติไปใช้ ในฐานะมหาวิทยาลัยเราจึงใช้โอกาสนี้ในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ สร้างทีมนักศึกษา เป็นการพัฒนาคนเพื่อมาร่วมสร้างองค์ความรู้ สร้างทีมผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่หรือ Technopreneur ที่เข้าใจโจทย์และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างลงตัวโดยมี B-Hive1 เป็นผลลัพธ์"

ซึ่ง ดร.ปราการเกียรติ กล่าวต่อว่า หลักการทำงานของ B-Hive1 แบ่งเป็น 2 ด้านสำคัญ คือด้าน Input มีลักษณะเป็นช่องสำหรับบรรจุยาที่ออกแบบเป็นแมกกาซีนที่สามารถดึงออกมาเติมยาได้โดยไม่ต้องรอให้ยาหมด แต่ถ้ายาใกล้จะหมดเครื่องก็ถูกออกแบบให้มีสัญญาณไฟเตือน ส่วนอีกด้านของเครื่องทำหน้าที่ปล่อยยาลงบนสายพาน เริ่มที่การคีย์ใบสั่งยาจากแพทย์เข้าสู่ระบบ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะอยู่ในฐานข้อมูลของโรงพยาบาล จากนั้นซอฟแวร์จะทำการประมวลผลว่ามีคำสั่งถึงยาตัวใดบ้างที่อยู่ในเครื่อง B-Hive1 โดยที่ B-Hive1 จะถูกสั่งให้จำว่าแต่ละช่องเก็บยาตัวใดไว้ เมื่อได้รับคำสั่งจากใบสั่งยา B-Hive1 จะดีดยาตัวนั้นๆ ออกจากช่องพร้อมๆ กันลงบนสายพานลำเลียง ด้วยเร็วประมาณ 20 วินาทีต่อใบสั่งยา หรือไม่น้อยกว่า 150 ใบสั่งยาต่อชั่วโมง จึงช่วยประหยัดเวลาไปได้มากและมีความแม่นยำ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบตรวจสอบความถูกต้องของยาที่ B-Hive1 จัดออกมาและเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องติดฉลากยาที่ระบุชื่อยา ชื่อคนไข้ และขนาดการใช้ก่อนจะลงสู่ตะกร้าและส่งต่อให้เป็นหน้าที่ของเภสัชกรเป็นผู้แนะนำวิธีใช้ยาให้แก่คนไข้ต่อไป

ทั้งนี้หุ่นยนต์ลำเลียงยาอัตโนมัติ B-Hive1 ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาทดแทนเภสัชกร แต่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับงานในส่วนที่ควรทำน้อยกว่าอย่างการจัดยา เพื่อให้เภสัชกรมีเวลาเพิ่มขึ้นในการใช้ความเชี่ยวชาญด้านยาให้เกิดประโยชน์กับคนไข้ เพิ่มเติมเวลาในการพูดคุยแนะนำข้อมูลด้านยากับคนไข้ได้มากขึ้นกว่าเดิม

ดร.ปราการเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าโครงการพัฒนา B-Hive อยู่ในระหว่างขั้นตอนการจดสิทธิบัตร ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อไปจนถึง B-Hive9 โดยในส่วนของ B-Hive1 นี้สามารถจ่ายยาที่เป็นกล่องและขวดพลาสติกสีชาที่บรรจุยาชนิดต่างๆ เท่านั้น แต่ในสเต็ปต่อไป B-Hive จะสามารถจ่ายยาขวดแก้ว ยาแผง ยาเม็ด ยาน้ำ ยาที่มาในรูปแบบเข็มฉีดยา ตลอดจนสามารถผสมยาที่มีฤทธิ์รุนแรงต่างๆ ได้ด้วย เพื่อให้ตอบโจทย์งานบริการทางด้านสุขภาพได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น

"เรื่องของความเร็วของหุ่นยนต์ลำเลียงยาอัตโนมัติที่เราพัฒนาขึ้นตอนนี้ผลลัพธ์ชนโจทย์ระดับโลก เพราะเราศึกษาข้อด้อยของต่างประเทศ แต่หากมีใครที่เริ่มพัฒนาขึ้นหลังจากเรา เค้าก็จะศึกษาข้อด้อยของเราและน่าทำออกมาได้ดีกว่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการจดสิทธิบัตร และพัฒนาเทคโนโลยีให้ใหม่อยู่เสมอ ควบคู่ไปกับการพัฒนานักศึกษา พัฒนาทีมให้เท่าทันกระแสเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์สังคมได้อย่างแท้จริง"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version