รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรีนักวิจัย จุฬาฯ เปิดเผยว่า Unisearch ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ "การปรับปรุงคุณภาพดินและการเพิ่มผลผลิตด้วยถ่านชีวภาพเพื่อความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน" จึงได้เกิดคณะนักวิจัยที่ร่วมกันรับผิดชอบโครงการเกิดขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ มาจากแนวคิดที่ว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทั้งนี้ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ชนบทประสบปัญหาความยากจน โดยมีสาเหตุมาจากประชาชนปราศจากคามรู้และความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานพยายามนำเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่สูง คุณภาพของผลผลิตที่ได้รับ ความสมบูรณ์และคุณภาพของทรัพยากรดิน ความเพียงพอของทรัพยากรน้ำในการเกษตร การใช้สารเคมีเพื่อเร่งการผลิต สารเคมีปราบศัตรูพืชซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ดังนั้นจึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เข้าใจง่าย และใช้ได้จริง ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีเกษตรแนวใหม่ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งเน้นให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ บำรุงดูแลรักษาสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นทุนในการผลิตและเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ให้ยั่งยืนเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
รศ.ดร.ทวีวงศ์กล่าวอีกว่าในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพื้นที่ศูนย์วิจัยถ่านชีวภาพป่าเต็ง ตั้งแต่ปี 2554 ของคณะวิจัยพบว่า การใช้ถ่านชีวภาพสามารถปรับปรุงคุณภาพดินและสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชไร่ พืชสวน พืชผัก และข้าวได้อย่างชัดเจน โดยการดำเนินงานวิจัยที่ผ่านมาได้คิดค้นละประดิษฐ์เตาเผาถ่านชีวภาพ Controlled
Temperature Retort for Slow Pyrolysis Process (จดสิทธิบัตร) โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีต้นทุนต่ำ สามารถผลิตได้โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถผลิตถ่านชีวภาพที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญนำไปสู่การเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่ท้องถิ่นนับเป็นการใช้งานวิจัยเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ
การดำเนินการในโครงการปรับปรุงคุณภาพดินและการเพิ่มผลผลิตด้วยถ่านชีวภาพเพื่อความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ถือเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีในลักษณะของการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งผู้นำชุมชน โดยมีความต้องการที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่น โดยใช้เตาเผาถ่านชีวภาพ Controlled Temperature Retort for Slow Pyrolysis Processซี่งมีกระบวนการที่ง่ายไม่ซับซ้อนผู้ที่เข้ารับการอบรมและทดลองผลิตถ่านชีวภาพจาวัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตรและวัสดุในท้องถิ่นด้วย และสามารถนำกลับไปทำได้เอง
"มั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มระบบ การเรียนรู้ ( Knowledge Management) สร้างความสามารถ (capability building) ในการต่อยอดองค์ความรู้ และสร้างโมเดลการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหารในพื้นที่และขยายผลในพื้นที่อื่นๆต่อไป" รศ.ดร.ทวีวงศ์ กล่าว