นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี ในกลุ่มบริษัท อาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ได้กล่าวว่า "ศตวรรษที่ 21 คือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ซับซ้อน พลิกผันสูง รวมทั้งในเวลาอีกไม่กี่ปีประเทศไทยก็จะก้าวสู่การเป็นสังคมสูงอายุเต็มขั้น ดังนั้นคนรุ่นใหม่ต้องเก่งขึ้น แกร่งขึ้น มี Productivity สูงกว่าคนรุ่นพ่อแม่อย่างน้อย 1 เท่า สามารถแก้ปัญหายากๆ และอยู่กับคนอื่นในโลกได้ดีขึ้น รวมทั้งต้องหาความสุขเป็น แต่ถ้าเรายังพัฒนาเด็กไปไม่ถูกทิศทาง ก็เป็นการยากที่เด็กไทยของเราจะรับมือกับปัญหาในโลกสมัยใหม่ได้ โดยโครงการ Thailand EF Partnership เกิดจากที่สถาบันอาร์แอลจีได้มีโอกาสไปศึกษาเรื่องของ Executive Functions (EF) จากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จนได้เรียนรู้ถึงความมหัศจรรย์ในเรื่อง EF ว่าเป็นกระบวนการทางความคิด (Mental Process) ในสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ ที่ช่วยให้เราได้มีการวางแผน มุ่งใจจดจ่อ จำคำสั่ง ควบคุมอารมณ์ ยั้งคิดไตร่ตรอง และจัดการกับงานหลายๆ อย่างให้ลุล่วงเรียบร้อยได้ด้วยความพากเพียร ซึ่งเป็นศักยภาพที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ถ้าได้รับการฝึกฝนมากขึ้นก็จะพัฒนาเป็นทักษะพื้นฐานของสมองในการคิด การรู้สึก และการดำเนินพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพื่อนำพาให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ซึ่ง EF หรือทักษะสมองนั้นจะต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่ปฐมวัย โดยเฉพาะในวัย 3-6 ขวบจะพัฒนาได้ดีที่สุด ซึ่งจากงานวิจัยในประเทศไทยและต่างประเทศต่างยืนยันว่า การเลี้ยงดูและจัดการเรียนการสอนบนแนวทาง Active Learning จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนา EF ค่ะ"
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ จากกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวว่า "EF : Executive Functions หรือทักษะสมอง 9 ด้าน นั้นประกอบไปด้วย ทักษะพื้นฐาน คือ 1. Working Memory ความจำที่นำมาใช้งาน เป็นทักษะในการจำหรือเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และดึงมาใช้ประโยชน์ตามสถาน การณ์ที่พบเจอ ถือเป็นทักษะแรกที่นำไปสู่การสร้างทักษะอื่นๆ Working Memory จะดีหรือไม่นั้น ไม่ใช่จากการท่องจำ หากแต่มาจากการที่มีประสบการณ์หลากหลาย เด็กที่มี Working Memory ดี ด้านไอคิวของเขาก็จะดีด้วย 2. Inhibitory Control การยับยั้งชั่งใจ คิดไตร่ตรอง เป็นความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จนสามารถหยุดยั้งพฤติกรรมได้ในเวลาที่สมควร เด็กที่ขาดความยับยั้งชั่งใจก็จะเหมือนรถที่ขาดเบรก เขาอาจทำสิ่งใดไปโดยไม่ยั้งคิด หรือมีปฏิกิริยาตอบโต้สิ่งต่างๆ ในทางที่ก่อให้เกิดปัญหา 3. Shift/ Cognitive Flexibility การยืดหยุ่นความคิด ความสามารถในการยืดหยุ่น หรือปรับเปลี่ยนความคิดให้เหมาะสมกับสถาน การณ์ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ยึดติดตายตัว ทำให้คิดนอกกรอบเป็น มองเห็นวิธีการและโอกาสใหม่ๆ เด็กที่มีปัญหาในการยืดหยุ่นความคิด มักจะติดอยู่กับเรื่องเดิมๆ ไม่สามารถพลิกแพลงหรือหาทางออกใหม่ๆ ได้ ต่อมาได้แก่ ทักษะกำกับตนเอง ประกอบด้วย 4. Focus/Attention การใส่ใจจดจ่อ คือความสามารถในการใส่ใจจดจ่อ มุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่วอกแวก หรือถูกเร้าความสนใจจากปัจจัย ทั้งภายนอกหรือภายในตนเองที่เข้ามารบกวน 5. Emotional Control การควบคุมอารมณ์ ความสามารถในการควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะ สม สามารถจัดการกับความเครียด หงุดหงิด และการแสดงออกที่ไม่รบกวนผู้อื่น เด็กที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ มักกลายเป็นคนโกรธเกรี้ยวฉุนเฉียว ขี้กังวล อารมณ์แปรปรวน และอาจมีอาการซึมเศร้า 6. Self -Monitoring การติดตามประเมินตนเอง คือการสะท้อนการกระทำของตนเอง รู้จักตนเอง รวมถึงการประเมินการงานเพื่อหาข้อบกพร่อง และหาทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น คนที่ไม่ค่อยประเมินตนเองมักไม่รู้ว่าตนเองมีจุดบกพร่องตรงไหน และมักจะทำผิดซ้ำในเรื่องเดิม
สุดท้ายเป็นเรื่อง ทักษะปฎิบัติ ได้แก่ 7. Initiating การริเริ่มและลงมือทำ เป็นความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำตามที่คิด มีทักษะในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำสิ่งต่างๆ และลงมือทำให้ความคิดของตนเป็นจริง อาศัยความกล้า ไม่กลัวความล้มเหลว ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง 8. Planning and Organizing การวางแผนและจัดระบบดำเนินการ เป็นทักษะกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การวางแผน การมองเห็นภาพรวม การจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการจัดระบบเพื่อดำ เนินการ และมีการประเมินผลว่าบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่ เด็กที่ขาดทักษะนี้จะวางแผนไม่เป็น จับต้นชนปลายไม่ถูก และทำให้งานมีปัญหา และ 9. Goal-Directed Persistence การมุ่งเป้าหมาย เป็นความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อตั้งใจและลงมือทำสิ่งใดแล้ว ก็มีความมุ่งมั่นอดทน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ก็พร้อมฝ่าฟันสำเร็จ ทักษะนี้จะเกิด ขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กมีโอกาสคิดและลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง รู้จักความผิดพลาด และรู้เท่าทันความเป็นจริงของโลก
ทางด้าน รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล จากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล ได้กล่าวว่า "ทางศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้คือ ได้มีการวางแผนพัฒนาเครื่องมือคัดกรอง EF เพื่อช่วยคัดกรองความบกพร่อง EF, การวิจัยเพื่อหาค่าเฉลี่ย EF ของเด็กไทย รวมทั้งจะได้ทำการวิจัยระยะยาวในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงด้าน EF และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษ อาทิ Autism, ADHD รวมทั้งจะมุ่งขยายความรู้ EF ให้ครอบคลุมในกลุ่มเด็กทุกวัย และทั้งหมดนี้ถือเป็นภารกิจที่ทางศูนย์ฯ จะช่วยขับเคลื่อนให้ EF หรือทักษะสมอง ได้มีความสำคัญและเกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย ซึ่งนอกจากนี้แล้วทางโครงการฯ ก็ยังมีพันธมิตรที่สำคัญอีกได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบ ปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มาร่วมมือกันในการขับเคลื่อนให้เรื่องของ EF : Executive Functions หรือทักษะสมอง 9 ด้าน ได้เป็นที่รู้จัก และมีการนำไปใช้พัฒนาศักยภาพทางสมองของเด็กปฐมวัย ซึ่งจะช่วยให้เด็กในสังคมไทยได้ประสบความสำเร็จ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพ สามารถพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรือง สืบแทนรุ่นของเราต่อไป โดยผู้สนใจรายละเอียดในเรื่อง EF : Executive Functions หรือทักษะสมอง 9 ด้าน จะสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 0 2913 7555 ต่อ 3348 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป