1.กำไรสุทธิ ช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2558 เท่ากับ 837 ล้านบาท ซึ่งมีผลกำไรต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยในช่วงเดือน ส.ค. 2558 มีกำไรสุทธิ 131 ล้านบาท เป็นผลมาจากดอกเบี้ยรับที่เพิ่มจากการขยายสินเชื่อใหม่ ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่ไม่สูง และที่สำคัญ คือ ในเดือน สค.ธนาคารได้รับชำระเงินคืนจากลูกหนี้ NPLs ทั้งที่เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยค้างรับและ ณ 31 ส.ค.2558 ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ 20,198 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นลูกหนี้สินเชื่อไม่เกิน 15 ล้านบาท จำนวน 8,808 ราย มียอดสินเชื่อคงค้าง 85,944 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เท่ากับ 10.02 %
2. สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เดือน ม.ค.– ส.ค. 2558 ธนาคารสามารถลด NPLs ได้จำนวน 4,950 ล้านบาท โดย ณ สิ้น ส.ค. 2558 NPLs คงเหลือ 27,010 ล้านบาท (คิดเป็น 31.43% ของสินเชื่อรวม) ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย 141 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน่าพึงพอใจ เมื่อเปรียบเทียบ NPls ของระบบทั่วไปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ธนาคารคาดว่าเดือน กย. NPL จะสามารถลดลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ จากการขายลูกหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งสัญญาน่าจะได้ข้อยุติเดือน กย.
3. สินเชื่อ Policy Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4% ณ วันที่ 8 ก.ย. 2558 มีผู้ประกอบการ SMEs ติดต่อขอสินเชื่อวงเงิน 11,659 ล้านบาท 2,494 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว 73.79% (วงเงิน 8,604 ล้านบาท 1,985 ราย) ทั้งนี้ ธนาคารสามารถอนุมัติได้แล้ว 1,094 ล้านบาท 343 ราย ดังนี้
ตารางแสดงจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่ติดต่อขอสินเชื่อโครงการ Policy Loan แบ่งตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
หน่วย : ล้านบาท
กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จำนวนราย วงเงินสินเชื่อ
1. SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว 1,985 8,604
2. SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการใหม่ (New/Start up) ที่มีนวัตกรรม 40 220
3. SMEs ขนาดย่อมที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มสามารถเติบโตไปสู่ขนาดกลางได้ 228 1,510
4. SMEs ที่มีความประสงค์ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) 241 1,325
รวม 2,494 11,659
4. โครงการร่วมลงทุน แต่เดิมเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งไว้ 500 ล้านบาท ตามมติ ครม.วันที่ 8 ก.ย. 2558 ให้ขยายร่วมลงทุน 2,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อมั่นว่าสามารถปฎิบัติได้ โดยขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว มีบริษัท ไทยเอซแคปปิตอล จำกัด ซึ่งเป็น Trust Manager (พี่เลี้ยง)ได้ตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนด้วย กอปรกับธนาคารได้คัดเลือกเอกชนเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงอีกหลายราย ทำให้สามารถสรรหา SMEs ที่ธนาคารจะร่วมลงทุนได้เร็วขึ้น ในส่วนกิจการ SMEs ที่ได้ลงนาม MOU ไปแล้ว 4 ราย นั้น มีอยู่ 2 รายสามารถจัดทำแผนขยายธุรกิจเสร็จสิ้น และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมลงทุนของธนาคารแล้ว คือ ธุรกิจไอที 1 ราย (บริษัท วันบิต แมทเทอร์ จำกัด) และ ธุรกิจอาหารอีก 1 ราย (บริษัท ไทยริชฟูดส์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งธนาคารจะดำเนินการจ่ายเงินค่าร่วมลงทุนให้แก่ SMEs ทั้ง 2 รายดังกล่าว ภายในระยะเวลาอันสั้นนี้
5. ธนาคารปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ คณะกรรมการธนาคารได้อนุมัติให้มีการปรับโครงสร้างตามข้อเสนอของที่ปรึกษาสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการทำพันธกิจหลักในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การร่วมลงทุน และการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยได้ขยายส่วนงานซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจทั้ง 3 ประการ เพิ่มขึ้น เช่น เพิ่มจำนวน เขต ภาค ไปต่างจังหวัด เพื่อช่วยให้การปล่อยสินเชื่อทำได้เร็วขึ้น และจัดตั้งศูนย์อำนวยสินเชื่อในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 เขต นอกจากนั้น ธนาคารยังเพิ่มหน่วยงานด้านร่วมลงทุนและพัฒนาผู้ประกอบการอีกด้วย ประการสำคัญคือ ธนาคารไม่ได้ละเลยในเรื่องการบริหารความเสี่ยง โดยได้เพิ่มหน่วยงานติดตามดูแลคุณภาพลูกหนี้ที่ค้ำประกันโดยบสย. เพราะธนาคารได้ส่งลูกหนี้ไปค้ำประกันกับบสย.เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ดี ธนาคารไม่ได้เพิ่มอัตรากำลังขึ้นจากที่มีอยู่ ณ สิ้นปี 2557 แต่ใช้วิธีโยกย้ายพนักงานด้านสนับสนุน (Back Office) ไปปฎิบัติงานด้านภารกิจหลักในตางจังหวัด