นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สำหรับปี 2558 สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 3 ภายใต้ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี สตูล และนราธิวาส ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม โดยการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งด้านการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และด้านเทคโนโลยี รวมถึงการขยายช่องทางและโอกาสทางการตลาดในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ยังยกระดับการพัฒนาแฟชั่นมุสลิมในคอนเซ็ปต์ สวย ดี มีคุณภาพ สู่สากล ภายใต้แนวคิด "Co-Design" หลอมรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกัน โดยสรุปผลการดำเนินงาน 4 กิจกรรมหลัก ประกอบไปด้วย
กิจกรรม 1 การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมสู่เชิงพาณิชย์
ยกระดับการต่อยอดแบรนด์ LAWA@THTI โดยดึงนักออกแบบชื่อดังของ 3 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนคือ คุณวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบไทยที่ไปคว้ารางวัลชนะเลิศ Mango Fashion Awards 2012 จากประเทศสเปน , Mr.Eric Choong นักออกแบบชาวมาเลเซีย และ Mr.Oka Diputra นักออกแบบชาวอินโดนีเซีย ร่วมสร้างสรรค์และออกแบบผลิตภัณฑ์ LAWA ในคอนเซ็ปต์ทั้ง 3 ธีม คือ Exotic orchid rain forest / Light & Shadow และ Graphic architecture water color รวมพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 30 คอลเลคชั่น ขึ้นแสดงแฟชั่นโชว์ในงาน Thailand Week 2015 ณ เมืองจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ตอกย้ำแบรนด์ LAWA@THTI ให้เป็นที่รู้จักของตลาดมากยิ่งขึ้น พร้อมนำกลุ่มผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อขยายฐานลูกค้าสู่อาเซียน รวมทั้งพัฒนาช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านทางเว็บไซต์ http://shop.muslim-thti.org ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับกระแสตอบรับดีมาก
กิจกรรมที่ 2 การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี
มุ่งเน้นสร้างความแตกต่างและเพิ่มคุณค่าใหม่ ให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม ด้วยการนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม มาออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ คือ พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมจากผ้าบาติกด้วยเทคโนโลยีสีธรรมชาติและการเขียนลายด้วย "หัวบอน" วัสดุที่มีมากในท้องถิ่น รวมทั้งการใช้เส้นใยธรรมชาติในผ้าทอพื้นเมือง เกิดองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 25 รายการ ทั้งเคหะสิ่งทอ และผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย อาทิ ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ชุดเครื่องแต่งกาย ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก เรือกอและ , สถาปัตยกรรมของจังหวัดสตูล และเกาะหินงาม เป็นต้น โดยใช้ครั่ง คราม ผลลูกเนียง ใบหูกวาง ใบราชพฤกษ์ สีธรรมชาติจากท้องถิ่นในการวาดลวดลาย สร้างความเป็นอัตลักษณ์ โดดเด่น เข้าสู่ตลาดอาเซียนและตลาดสากล
กิจกรรมที่ 3 การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์และการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์
ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิตและการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างทักษะการฝึกภาคปฏิบัติ เรื่อง Size Specification และการสร้าง Pattern ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้พัฒนาและควบคุมรูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีรูปทรงสวยงาม มีความเหมาะสมกับสัดส่วนของผู้บริโภคในแถบภูมิภาคอาเซียน รวมกว่า 100 คน พร้อมทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาแล้วจากโครงการฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการที่เข้าฝึกอบรมมากกว่า 90 % มีความพึงพอใจในการได้รับองค์ความรู้ดังกล่าว
กิจกรรม 4 การจัดทำฐานข้อมูลและติดตามประเมินผล
กิจกรรมนี้มุ่งเน้นการจัดทำฐานข้อมูลโครงสร้างอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องแต่งกายมุสลิมและผ้าพื้นเมืองในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ซึ่งจะเป็นการศึกษาตั้งแต่กระบวนการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ การผลิต และการจัดจำหน่ายสินค้า ตลอดจนองค์ประกอบของกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุนตามห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรม เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ตลอดจนติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ระยะที่ 3) เพื่อประเมินผลกระทบความสำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต่อการสร้างงานสร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่
จากการติดตามและประเมินผลเมื่อได้ดำเนินงานโครงการพบว่า ก่อให้เกิดความสามัคคีความเข้มแข็งของคนในชุมชนและองค์กร เนื่องจากสมาชิกกลุ่มได้มีการเข้ารับการฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้ด้านต่างๆ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบหลากหลาย มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนั้นยังเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ เกิดการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม โดยในปีที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมโครงการมองว่าผลจากการเข้าร่วมโครงการทำให้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและ เป็นอาชีพเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15-20 ต่อเดือน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมฯ ได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 400 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thti.org