ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)กล่าวว่า เนื่องจาก วสท.ได้รับคำร้องเรียนจากผู้อยู่อาศัยในแฟลตเคหะชุมชนดินแดงที่มีความกังวล ต่อความมั่นคงของอาคารที่สร้างมานานและไม่ได้รองรับแรงแผ่นดินไหว วสท.ซึ่งเป็นองค์กรเสาหลักด้านวิศวกรรมของประเทศ จึงนำคณะผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่สำรวจสภาพอาคารแฟลตชุมชนดินแดง ซึ่งสร้างมาราว 52 ปี โดย กรมประชาสงเคราะห์ ได้จัดสร้างอาคารตึกแบบแฟลตแห่งแรกในประเทศไทยขึ้นเมื่อปี 2506 บริเวณถนนดินแดง ด้วยรูปแบบอาคารแฟลตสูง 5 ชั้น ใต้ถุนโล่ง จำนวน 64 หลัง 4,144 หน่วย ต่อมาการเคหะแห่งชาติได้รับโอนแฟลตดินแดงจากกรมประชาสงเคราะห์มาอยู่ในความดูแลในปี พ.ศ. 2516 จากนั้นได้พัฒนาที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมอีก 5,098 หน่วย ได้แก่ โครงการแฟลตพิเศษอาคารพาณิชย์ดินแดงจำนวน 826 หน่วย (พ.1-พ.10) โครงการดินแดงใหม่ระยะที่ 1 จำนวน 308 หน่วย (ค.1-ค.2) โครงการดินแดงใหม่ ระยะที่ 2-3 จำนวน 2,322 หน่วย (ช.1-ช.11) โครงการดินแดงเช่าซื้อ 8 ชั้น จำนวน 1,020 หน่วย โครงการดินแดง 4 จำนวน 352 หน่วย และโครงการดินแดง 5 จำนวน 270 หน่วย จนถึงปัจจุบันชุมชนดินแดงเก่าและใหม่มีที่พักอาศัยรวมทั้งสิ้น 9,242 หน่วย ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยประมาณ 30,000 คน วัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่สำรวจแฟลต 32 หลัง เพื่อให้ข้อมูลการวิเคราะห์แก่ชุมชนและผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ตามหลักวิชาการและวิศวกรรม เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำแก่ชุมชนและผู้อยู่อาศัยในการยกระดับคุณภาพชีวิต การสำรวจวันนี้เป็นการสำรวจเบื้องต้น จากการที่ได้เดินสำรวจเบื้องต้นพบว่าบางอาคารในโซน E มีการต่อเติมอาคารค่อนข้างมาก เพดาน ผนังและคานบางจุดเห็นเหล็กเส้นภายใน เนื้อคอนกรีตยุ่ย ทั้งนี้ทาง วสท.จะดำเนินการตรวจวิเคราะห์ทางวิศวกรรมอย่างละเอียดต่อไปโดยทีมผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมืออุปกรณ์โดยต้องใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ซึ่งเลขาธิการ วสท.จะดูแลดำเนินการจนเสร็จสิ้น
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท.กล่าวถึง แผนและขั้นตอนการตรวจสภาพอาคารแฟลตเคหะชุมชนดินแดง โดยมีขอบเขตแบ่งเป็น 3 phase คือ phase 1 เป็นการตรวจสอบด้านกายภาพ ได้แก่ การตรวจพินิจ (Visual Inspection) และการตรวจสอบกำลังอัดคอนกรีตโดยใช้Schmidt Hammer เพื่อเป็นการแบ่งกลุ่มอาคารตามลำดับความบกพร่องและนำไปสู่ phase 2 คือ การตรวจเชิงลึก กลุ่มต่างๆที่เลือกไว้ใน phase 1 ก็จะทำการสุ่มในแต่ละกลุ่มเพื่อตรวจสอบกำลังอัดคอนกรีต, เหล็กเสริม, เสาเข็ม และการเสื่อมสภาพ เป็นต้น นอกจากนี้จะต้องตรวจสอบความสามารถต่อการรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวอีกด้วย และ phase 3 คือการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยเบื้องต้น และการจัดทำประชาพิจารณ์ ทั้งหมดนี้จะสรุปผลนำเสนอการเคหะเพื่อนำไปพิจารณาต่อไป
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า "แม้การประเมินสภาพของอาคารแฟลตดินแดงได้ดำเนินการแล้วหลายครั้ง อาทิ การตรวจสอบโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เมื่อปี พ.ศ. 2546 และเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2550 รวมทั้งวิศวกรรมสถาน ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2547 แต่กฎกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้อาคารในกรุงเทพมหานครที่มีความสูงมากกว่า 15 เมตร ต้องได้รับการออกแบบให้มีความสามารถในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ประกอบกับ มยผ.1302 ได้กำหนดมาตรฐานใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2552 ทำให้แรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวที่จะมีผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหวระยะไกลกับอาคารในกรุงเทพมหานครมีความชัดเจน และพบว่ามีค่าสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงปี พ.ศ.2550 และปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมืองยังได้ออกมาตรฐานใหม่ มยผ.1303-57 การประเมินและการเสริมกำลังความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารในเขตที่อาจได้รับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว และในครั้งนี้ วสท.จะได้ดำเนินการประเมินกำลังของอาคารในการต้านทานแรงแผ่นดินไหวเพื่อจัดทำความคุ้มค่า และมูลค่าของการเสริมกำลังอาคารที่อาจต้องเสริมสภาพ และให้มีความสามารถในการต้านทานแรงแผ่นดินไหวตามมาตรฐานดังกล่าว เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีความมั่นใจ"