หอการค้าไทยมีความเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและมีแนวทางในการเพิ่มรายได้ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ในการขับเคลื่อนโครงการ "ร้านอาหาร หนูณิชย์...พาชิม" ออกไปยังส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ เพิ่มรายได้และเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้กับประชาชน และผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งเชื่อว่า หากมีการขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวพร้อมกันทั่วประเทศแล้ว จะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ และช่วยบรรเทาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้อีกทางหนึ่ง
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้มีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯกับกระทรวงพาณิชย์แล้วจำนวนหนึ่ง โดยแบ่งเป็นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,560 ราย อยู่ในกรุงเทพฯ 1,193 ราย ปริมณฑล 367 ราย ในส่วนภูมิภาค เข้าร่วมโครงการแล้ว 70 จังหวัด จำนวน 1,600 ราย โดยจากการสำรวจในช่วงวันที่ 9 ส.ค.-11 ก.ย. 2558 พบว่า การดำเนินโครงการฯ ผ่านร้านอาหารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถลดค่าครองชีพให้กับประชาชนได้วันละประมาณ 1,333,800 บาท มียอดลดภาระค่าครองชีพสะสม451.14 ล้านบาท และร้านอาหารทั่วประเทศ สามารถลดภาระฯ ได้วันละ 2,765,925 บาท ยอดลดภาระสะสม717.80 ล้านบาท
? สำหรับการดำเนินงานโครงการ ทางกรมการค้าภายในได้มีการประสานกับธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ในการพิจารณาสนับสนุนให้สินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ และสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ เช่น ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ป้ายสัญลักษณ์แสดงการรับรองคุณภาพ ผ้ากันเปื้อนพร้อมหมวก และประสานให้นำสินค้า OTOP มาจำหน่ายในร้านที่เข้าร่วมโครงการ
นายยง รุ่งเรืองธัญญา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผลโครงการนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หอการค้าไทยจึงได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ ภายใต้ชื่อ "หอการค้าฯ รวมมิตร...หนูณิชย์...พาชิม" โดยการขับเคลื่อนดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ประการ คือ 1) ลดค่าครองชีพ โดยประชาชนจะมีทางเลือกในการบริโภคอาหารในราคาประหยัดและมีคุณค่า ในส่วนของร้านอาหาร ก็สามารถลดต้นทุนของวัตถุดิบ ในราคาต้นทุนหรือต่ำกว่าท้องตลาด จากเครือข่ายสมาชิกผู้จัดจำหน่ายที่เข้าร่วมโครงการ 2) เพิ่มรายได้ โดยร้านอาหารที่ร่วมโครงการฯจะจัดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการ OTOP ในท้องที่ มาวางสินค้าเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายและเพิ่มรายได้ให้กับ OTOP ในขณะที่ร้านอาหารเองก็จะมีรายได้ส่วนแบ่งจากการจำหน่ายอีกทางหนึ่ง และ 3) เสริมเศรษฐกิจฐานราก แนวทางการดำเนินโครงการนี้ จะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจฐานรากในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งพึ่งพาซึ่งกันและกันเป็นห่วงโซ่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนและมีการกระจายเม็ดเงินในพื้นที่
นายยง กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้ หอการค้าฯ จะใช้ "บุรีรัมย์โมเดล" เป็นต้นแบบในการขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เนื่องจากจังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดแรกที่ได้เริ่มต้นโครงการ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยหอการค้าฯ ตั้งเป้าหมายให้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ จำนวน 10,000 รายทั่วประเทศ ภายในปี 2559 โดยมีจังหวัดนำร่อง 32 จังหวัด ในพื้นที่ 5 ภาคภาคเหนือ ได้แก่ พิษณุโลก เชียงราย ลำปาง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ น่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ บุรีรัมย์ สกลนคร เลย อุดรธานี นครพนม ศรีสะเกษ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ภาคกลาง ได้แก่ ปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว และภาคใต้ ได้แก่ กระบี่ พังงา ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา สงขลา ปัตตานี
นางเสียงรัตน์ กีรติมาศ ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์เห็นประโยชน์และความเป็นไปได้ของโครงการนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชนให้ถูกลง และช่วยเหลือส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านค้า รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้ลดรายจ่าย จึงได้ร่วมมือกับ พาณิชย์จังหวัด เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ โดยมีการเริ่มโครงการอย่างเป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ จนเกิดเป็น "บุรีรัมย์โมเดล" ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้หอการค้าจังหวัดต่าง ๆ นำไปเป็นต้นแบบในการดำเนินการต่อไป โดยขณะนี้มีร้านอาหารในจังหวัดบุรีรัมย์เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 92 ราย ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง และในอนาคตจะมีการขยายโครงการออกไปทั่วทั้งจังหวัด เนื่องจากมีผู้ประกอบการสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และมีร้านจำหน่ายวัตถุดิบเข้าร่วม 5 ราย กับอีก 2 ชมรม คือ ชมรมโรงสีข้าว และชมรมร้านอาหาร
สำหรับรูปแบบการดำเนินงานโครงการฯ ประกอบด้วย 1) คัดเลือกร้านอาหารและผู้จำหน่ายสินค้าวัตถุดิบราคาถูกให้กับร้านค้า 2) จัดทำบัตรให้ร้านอาหาร (ID Card) เพื่อใช้ซื้อวัตถุดิบกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ3) จัดทำป้ายร้าน "หนูณิชย์ พาชิม" ให้กับร้านอาหาร 4) ประชาสัมพันธ์ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการผ่านสื่อต่าง ๆ ของภาครัฐในจังหวัด และสื่อออนไลน์ และ 5) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินร้านอาหาร และร้านขายสินค้าวัตถุดิบ เพื่อให้ได้มาตรฐาน
นายภัสพลภ์ ชัยสุริยาทวิกุล ประธานหอการค้าจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดปทุมธานีมีความพร้อมที่ให้การสนับสนุนโครงการ "หนูณิชย์ พาชิม" และจะเป็นหอการค้าจังหวัดนำร่องโครงการ เพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐ และเป็นตัวแทนภาคเอกชนในการขับเคลื่อนโครงการ และผลักดันสินค้า OTOP ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการธุรกิจจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป และขยายผลเชื่อมโยงไปยังผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในเรื่องวัตถุดิบปรุงอาหาร
สำหรับโครงการนี้ ทางจังหวัดและหอการค้าฯ ได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกร้านค้าตามหลักเกณฑ์ "ถูก สะอาด ดี อร่อย" โดยได้มีการจัดมอบไปแล้ว จำนวน 94 ร้านค้า แบ่งเป็นอำเภอเมืองปทุมธานี จำนวน 43 ร้าน อำเภอคลองหลวง 13 ร้าน อำเภอธัญบุรี 14 ร้าน อำเภอลำลูกกา 19 ร้าน อำเภอลาดหลุมแก้ว 3 ร้าน และอำเภอสามโคก 2 ร้าน
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าควบคู่กันไป จึงมีแนวทางที่จะนำสินค้า OTOP ของดีจังหวัดปทุมธานี ไปวางจำหน่ายในร้าน "หนูณิชย์ พาชิม" คือ ทองทรัพย์หมูทุบ น้ำพริกเจ้เล็ก ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากของจังหวัด และได้ป้ายรับรองของดีเมืองปทุมธานีจากหอการค้าฯ