นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบดำเนินงานการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามเป้าประสงค์ คือ การสร้างระบบการศึกษาที่มีความเสมอภาคอย่างยุติธรรมเพื่อความเป็นธรรมในสังคม เพื่อให้ผู้เรียนในทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ และทุกระดับ ได้รับการศึกษาที่เสมอภาค มีคุณภาพเท่าเทียมกันตามศักยภาพและเป้าหมายการศึกษา โดยมีมาตรการที่สำคัญ 3 ประการ คือ การประกันโอกาสทางการศึกษา การประกันคุณภาพการศึกษา และการประกันประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินการไว้อย่างชัดเจน
"โดยเฉพาะ ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ที่มุ่งหมายให้นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นเรียนและมีครูที่จบการศึกษาไม่ครบวิชาที่สอน ได้กำหนดเป้าหมายให้ได้รับการเรียนการสอนเต็มเวลาและเต็มหลักสูตร จากครูที่จบการศึกษาตรงตามวิชาที่สอนครบทุกวิชา โดยมีกลไกหลักที่สำคัญ ได้แก่ การจัดให้ได้เรียนทางไกลจากโรงเรียนต้นทาง คือ โรงเรียนไกลกังวล ด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียมที่เรียกว่า ระบบ DLTV" นายอนุสรณ์กล่าว
จากการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงเรียนวัดบางใหญ่ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำระบบ DLTV มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุขและมีคุณภาพรวมถึงมีการขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนทางไกลในระดับภูมิภาค โดยมีจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการขยายผลของภาคกลาง ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนเชิงรุกในการส่งเสริมระบบการเรียนการสอนทางไกลให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่
รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังกล่าวอีกว่า เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน เป็นต้นแบบสำหรับพื้นที่หรือภูมิภาคอื่นในการขยายผลDLTV และต่อยอดเป็น DLIT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"แนวทางในการดำเนินงาน คือ ขอให้บูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ทั้งในด้านการประสานความร่วมมือ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาการจัดการเรียนการสอน การนิเทศ การบริหารจัดการ และการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศรวมถึงให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม มีประโยชน์เชิงพัฒนา และสอดคล้องกับเป้าหมาย" รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเน้นย้ำ
สำหรับกิจกรรม "ครูตู้สัญจร" ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานและการขยายผลแล้ว ยังได้รับเกียรติจากครูตู้ หรือครูต้นทางจากโรงเรียนไกลกังวล มาพบปะเด็กๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการสร้างความสุข และแรงบันดาลใจในการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นแล้วใน 3 ภูมิภาค โดยในครั้งต่อไป กิจกรรมขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) "ครูตู้สัญจร" ภาคใต้ จะจัดขึ้นในวันที่ 25 กันยายน 2558 ที่จังหวัดชุมพร