สศอ. ชี้ช่องภาคอุตสาหกรรม รับมือทิศทางเศรษฐกิจโลก

พฤหัส ๒๔ กันยายน ๒๐๑๕ ๑๒:๕๐
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แนะภาคอุตสาหกรรมไทย ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อการส่งออก ชดเชยต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ใช้โอกาสการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับเศรษฐกิจโลกให้เกิดประโยชน์ตกอยู่ภายในประเทศ และเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ. ได้ศึกษาถึง "ความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับต่างประเทศ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก" รวมทั้งคาดการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นภายภาคหน้าในเศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบันที่มีต่ออุตสาหกรรมไทย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางนโยบายส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อแสวงหาโอกาสและใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงที่เกิดขึ้น สอดรับตามแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

สืบเนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งโครงสร้าง การผลิต การค้า และการลงทุนของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้รูปแบบการผลิตและการค้าของ แต่ละประเทศต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับโครงสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลง การเชื่อมโยงปัจจัยการผลิตระหว่างอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม

จากการศึกษาประเทศไทยเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าโลกอย่างมาก มีระดับการเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกของไทยอยู่ที่ร้อยละ 52 เนื่องจากโครงสร้างการผลิตของไทยส่วนใหญ่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาใช้ในกระบวนการผลิต และการส่งออกสินค้าขั้นกลางอยู่ในระดับสูง จากการที่ไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกในระดับสูง ส่งผลให้ไทยได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกอย่างมาก และยังเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตของประเทศอีกด้วย

ปัจจุบันไทยเป็นฮับของเอเชียในอุตสาหกรรมสาขายานยนต์และชิ้นส่วน และเป็นฐานการผลิตในหลายๆ สาขาอุตสาหกรรม และมีระดับเทคโนโลยีสูงพอที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ จากการที่ห่วงโซ่มูลค่าโลกเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการผลิต การลงทุน และการค้าของโลก รวมทั้งยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงต่อมูลค่าเพิ่ม การจ้างงาน และรายได้ของประเทศ ห่วงโซ่มูลค่าโลกยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศผ่านการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและการพัฒนาทักษะ ต่าง ๆ รวมทั้งเปิดโอกาสในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว

จากการศึกษา ไทยมีระดับการใช้ปัจจัยการผลิตจากในประเทศอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 59 ที่เหลือจะเป็นการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากประเทศคู่ค้าโดยจากประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.1 รองมา ได้แก่ จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.7 และสหภาพยุโรป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.0 ด้านความเชื่อมโยงปัจจัยการผลิตของไทยกับประเทศคู่ค้า ไทยส่งต่อปัจจัยการผลิตเพื่อใช้เป็นปัจจัยการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศร้อยละ 63 และมีการส่งต่อปัจจัยการผลิตไปยังอุตสาหกรรมในประเทศอื่น ๆ โดยส่งออกไปที่จีนมากที่สุดร้อยละ 11 อุตสาหกรรมที่ส่งต่อปัจจัยการผลิตไปให้มากที่สุด คือ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และอุปกรณ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก

ส่วนการศึกษาการเชื่อมโยงในห่วงโซ่มูลค่าโลกถึงสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญๆ ต่อมูลค่าเพิ่มรวมในห่วงโซ่การผลิตโลกเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า พบว่าประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มมากที่สุดในโลก 3 อันดับคือ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน และอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น มักเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตค่อนข้างสูงจากอดีต อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสร้างมูลค่าของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นและตกอยู่กับประเทศผู้ผลิตมากขึ้น สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในการผลิตของห่วงโซ่การผลิตโลกเพียงเล็กน้อย อุตสาหกรรมไทยที่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่เมื่อเทียบสัดส่วนมูลค่าเพิ่มกับประเทศอื่นในอาเซียน พบว่า ประเทศไทยเองจะอยู่ในอันดับต้นๆ และกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยที่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่มูลค่าโลกมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง และรองเท้า รองลงมาคือ อุตสาหกรรมไม้ และอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม

สำหรับการศึกษาผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญต่อประเทศไทย พบว่าหากประเทศคู่ค้ามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 1 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในระดับมหภาค ทั้ง มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม การผลิต การส่งออก และการนำเข้าลดลง โดยผลจากประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกาใกล้เคียงกัน แต่ประเทศจีนจะส่งผลกระทบมากกว่าประเทศอื่นๆ เล็กน้อย เนื่องจากในปัจจุบันการเชื่อมโยงการค้าและการผลิตของประเทศไทย และประเทศจีนมีเพิ่มมากขึ้น และการพึ่งพาวัตถุดิบขั้นกลางซึ่งกันและกันมีมากขึ้น ดังนั้น เมื่อประเทศจีนมีความต้องการการบริโภคที่ลดลงร้อยละ 1 จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าประเทศคู่ค้าอื่นๆ

โดยมีรายละเอียดดังนี้ กรณีจีนมีการบริโภคลดลงร้อยละ1 จะกระทบต่อการเติบโต (จีดีพี) ของไทยลดลงร้อยละ 0.45 การผลิตรวมลดลงร้อยละ 1.18 ส่งออกรวมลดลงร้อยละ 1.15 นำเข้ารวมลดลงร้อยละ 0.74 กรณียุโรปมีการบริโภคลดลงร้อยละ 1 กระทบต่อจีดีพีของไทยลดลงร้อยละ 0.37 การผลิตรวมลดลงร้อยละ 1.15 การส่งออกรวมลดลงร้อยละ 1.11 นำเข้ารวมลดลงร้อยละ 0.69 กรณีญี่ปุ่นมีการบริโภคลดลงร้อยละ 1 กระทบต่อจีดีพีของไทยลดลงร้อยละ 0.38 การผลิตรวมลดลงร้อยละ 1.16 การส่งออกรวมลดลง 1.16 การนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 0.70 และกรณีสหรัฐอเมริกามีการบริโภคลดลงร้อยละ 1 กระทบต่อจีดีพีของไทยลดลงร้อยละ 0.37 การผลิตรวมลดลงร้อยละ 1.15 การส่งออกรวมลดลงร้อยละ 1.12 และนำเข้ารวมลดลงร้อละ 0.69

ดังนั้น นโยบายในการยกระดับการมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงในระดับโลกหรือห่วงโซ่โลก ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ ด้าน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการเป็นอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่า ไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าภายในประเทศมากขึ้น โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมบนฐานศักยภาพของประเทศ การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิจัยพัฒนา การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ

อีกทั้งผลักดันให้เพิ่มความเข้มข้นในการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตห่วงโซ่อุปทาน พัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่มูลค่าและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและโลก เน้นให้เชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของฐานการผลิตและส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาปัจจัยแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัยพัฒนา พัฒนาด้านการตลาด การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน สิทธิประโยชน์

แต่อย่างไรก็ตามการเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) ก็ไม่ได้ทำให้มูลค่าเพิ่มของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัยยะสำคัญเพียงอย่างเดียว เนื่องจากบางอุตสาหกรรมต้องนำเข้าวัตถุดิบและพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงต้องคำนึงถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตเพื่อชดเชย การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ หรือ import content ด้วย ซึ่งถือเป็นความจำเป็นอย่างมากเพื่อทำให้ประเทศได้รับประโยชน์และมีมูลค่าเพิ่มตกอยู่ภายในประเทศให้มากที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO