จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 23/2558 : ข้อเสนอเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บค่าบริการประเภทพรีเพด, ดีแทคแจ้งแผนการปรับปรุงระบบจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้า, ปรับปรุงประกาศมาตรการคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล, พิจารณาค่าใช้โครงข่ายของ CAT ในช่วงประกาศมาตรการเยียวยา

ศุกร์ ๒๕ กันยายน ๒๐๑๕ ๑๖:๓๕
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 23/2558 วันพุธที่ 23 กันยายน 2558 มีวาระที่น่าจับตา ได้แก่ ข้อเสนอของกลุ่มบริษัท AIS และ DTAC ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดเก็บค่าบริการประเภทพรีเพด เรื่อง บจ. ดีแทค ไตรเน็ต แจ้งแผนการปรับปรุงระบบจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้า เรื่องการปรับปรุงประกาศมาตรการคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีการบรรจุอยู่ในวาระการประชุม แต่คาดว่าอาจจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาด้วย ซึ่งก็จะกลายเป็นเรื่องสำคัญทีเดียว นั่นคือเรื่องการพิจารณาค่าใช้โครงข่ายของ บมจ. กสท โทรคมนาคม เพื่อให้บริการในช่วงประกาศมาตรการเยียวยา

วาระข้อเสนอของกลุ่มบริษัท AIS และ DTAC ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บค่าบริการประเภทพรีเพด

เรื่องนี้เป็นเพียงวาระเพื่อทราบ ซึ่งที่ประชุมไม่ต้องพิจารณา แต่มีสาระน่าสนใจเนื่องจากเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้บริโภค โดยเรื่องมีอยู่ว่า กลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ AIS และ DTAC ได้ทำหนังสือขอความเห็นชอบในการจัดเก็บค่าบริการประเภทเก็บเงินล่วงหน้า หรือพรีเพด โดยจะขอเรียกเก็บค่าบริหารเลขหมายในกรณีที่เลขหมายนั้นไม่มีการใช้งานเกิน 30 วัน หรือจำนวนวันใช้งานสะสมหมด แต่ยังมีเงินค้างอยู่ในระบบ ซึ่ง บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) และ บจ. ดีแทค ไตรเน็ต (DTN) จะเรียกเก็บวันละ 1 บาท ส่วน บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จะเรียกเก็บวันละ 0.50 บาท จนเมื่อเงินในระบบหมด เลขหมายก็จะเข้าสู่สถานะ Suspend คือผู้ใช้บริการจะโทรออกไม่ได้ แต่สามารถเติมเงินและรับสายได้ จากนั้นหากไม่มีการเติมเงินภายใน 30 วัน ก็จะเข้าสู่สถานะ Disable เป็นเวลา 15 วัน คือทั้งโทรออกและรับสายไม่ได้ สามารถเติมเงินได้อย่างเดียว และหากยังไม่มีการเติมเงินอีก เลขหมายก็จะถูกยกเลิกบริการในที่สุด

เหตุที่ผู้ให้บริการอ้างเพื่อขอเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บค่าบริการก็คือ ทุกวันนี้มีเลขหมายที่ไม่มีการใช้งานเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนในการรักษาเลขหมายให้อยู่ในระบบเพื่อให้ใช้งานได้ต่อไป อีกทั้งมาตรการนี้จะช่วยในเรื่องการหมุนเวียนเลขหมายที่ไม่มีการใช้งานให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้รวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานนี้สำนักงาน กสทช. ไม่คล้อยตาม โดยวิเคราะห์ข้อเสนอของผู้ให้บริการว่า ที่ผ่านมา ต้นทุนในการให้บริการลูกค้าได้สะท้อนอยู่ในการกำหนดอัตราค่าบริการของบริษัทแล้ว ซึ่งมีกลไกตลาดเป็นปัจจัยในการกำหนดอัตราค่าบริการด้วยในอีกทางหนึ่ง ดังนั้นข้ออ้างเรื่องภาระต้นทุนในการรักษาเลขหมายจึงฟังไม่ขึ้น อีกทั้งการเรียกเก็บค่าบริการแบบใหม่นี้มีประเด็นผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ ทั้งเป็นการเรียกเก็บค่าบริการในลักษณะที่ไม่เคยเรียกเก็บมาก่อน และเป็นการลดสิทธิเรื่องจำนวนวันสะสมของผู้ใช้บริการ

อนึ่ง กติกาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดให้การเติมเงินเข้าสู่ระบบทุกมูลค่าต้องได้รับระยะเวลาใช้งานไม่น้อยกว่า 30 วัน และสามารถสะสมวันได้สูงสุดอย่างน้อย 365 วัน ในกรณีที่ยกเลิกใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องคืนเงินที่ค้างในระบบทั้งหมดให้กับผู้ใช้บริการ โดยผู้ให้บริการอาจกำหนดเงื่อนไขให้สามารถโอนเงินที่ค้างอยู่ในระบบไปยังเลขหมายอื่นของผู้ใช้บริการที่อยู่ภายในโครงข่ายเดียวกันได้

วาระดีแทคแจ้งแผนการปรับปรุงระบบจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้า

วาระเพื่อพิจารณานี้เป็นเรื่อง บจ. ดีแทค ไตรเน็ต ขอความเห็นชอบแผนการปรับปรุงระบบจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการระบบฐานข้อมูลและเพิ่มระดับความเสถียรของระบบ โดยบริษัทมีแผนดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2558 ช่วงเวลา 0.00 – 06.00 น. ทั้งนี้ บริษัทจะทยอยปรับปรุงระบบครั้งละไม่เกิน 4 ล้านเลขหมาย ซึ่งก่อนที่บริษัทจะดำเนินการเปลี่ยนฐานข้อมูลลูกค้า ก็จะแจ้งผู้ใช้บริการทุกรายให้ทราบด้วยการส่ง SMS ดังนั้นหากผู้ใช้บริการรายใดประสบปัญหาใช้งานขัดข้องในช่วงเวลาดังกล่าว ก็สามารถร้องเรียนไปทางบริษัทดีแทค ไตรเน็ต เพื่อแก้ไขปัญหาและชดเชยความเสียหายตามหลังได้ หรือแจ้งมาที่สำนักงาน กสทช. เพื่อประสานบริษัทในการแก้ไขเยียวยา

เรื่องการปรับปรุงประกาศมาตรการคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล

วาระนี้เป็นการพิจารณาปรับปรุงร่างประกาศเรื่องมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ... ที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งในการปรับปรุงนี้มีการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการให้ชัดเจนขึ้นในหลายประเด็น เช่นการกำหนดว่าในกรณีที่เป็นเรื่องร้องเรียน ผู้รับใบอนุญาตจะต้องเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการจนกว่าการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจะแล้วเสร็จ เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาเรื่องร้องเรียน และมีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือกที่จะรับหรือไม่รับบริการโทรคมนาคมที่ผู้รับใบอนุญาตนำเสนอก็ได้ ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีช่องทางให้ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลือกที่จะรับหรือไม่รับบริการโทรคมนาคมเอาไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็มีเนื้อหาบางส่วนที่เป็นจุดบอด นั่นคือมีการกำหนดว่า ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้รับใบอนุญาตจัดส่งข้อมูลให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ก็ไม่ต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบได้ ซึ่งโดยหลักการแล้วไม่น่าจะถูกต้อง เนื่องจากไม่ว่าจะมีการส่งข้อมูลให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เจ้าของข้อมูลก็ควรมีสิทธิที่จะได้รับทราบว่าข้อมูลส่วนบุคคลของตนมีการจัดส่งให้ผู้ใดหรือหน่วยงานใด

วาระพิจารณาค่าใช้โครงข่ายของ CAT ในช่วงประกาศมาตรการเยียวยา

ถึงแม้ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 17/2558 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 จะมีมติโดยเสียงข้างมากให้ บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน นำส่งรายได้จากการให้บริการในช่วงประกาศใช้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) ระหว่างวันที่ 16 กันยายน 2556 ถึง 17 กรกฎาคม 2557 เป็นจำนวนเงินประมาณ 1,070 ล้านบาท และ 628 ล้านบาท ตามลำดับ แต่ปรากฏว่ายอดเงินดังกล่าวยังไม่ได้หักต้นทุนค่าใช้โครงข่ายให้แก่ บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นปมปัญหาที่ยังไม่สามารถหาจุดลงเอยได้

ทั้งนี้ ประกาศมาตรการเยียวยาฯ ข้อ 7 กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า "ในช่วงระยะเวลาคุ้มครอง ให้ผู้ให้บริการเป็นผู้รับชำระเงินรายได้จากการให้บริการแทนรัฐ โดยรายได้ที่หักต้นทุนค่าใช้โครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นในการให้บริการแล้ว ส่วนที่เหลือให้นำส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป" ดังนั้นการที่ที่ประชุม กทค. มีมติในครั้งนั้นดูเหมือนจะเป็นการผิดขั้นตอน เพราะที่จริงแล้วควรมีการคำนวณและหักต้นทุนค่าใช้โครงข่ายก่อนที่ผู้ให้บริการจะนำส่งรายได้มายังสำนักงาน กสทช.

ส่วนประเด็นมูลค่าของค่าใช้โครงข่าย แม้ภายหลังสำนักงาน กสทช. จะได้มีการคำนวณค่าใช้โครงข่ายให้กับทาง บมจ. กสท โทรคมนาคม แต่มูลค่าก็ต่างกันลิบลับกับที่ทาง บมจ. กสท โทรคมนาคมแจ้งและเรียกเก็บมายังสำนักงาน กสทช. โดยค่าใช้โครงข่ายในระหว่างวันที่ 16 กันยายน 2556 ถึง 17 กรกฎาคม 2557 ที่ทางสำนักงาน กสทช. คำนวณได้คือ 742,000 บาท แต่ที่ทาง บมจ. กสท โทรคมนาคม เรียกเก็บเบื้องต้นในระหว่างวันที่ 16 กันยายน 2556 – 15 กันยายน 2557 คือ 23,379 ล้านบาท ซึ่งนอกจากช่วงเวลาที่คำนวณแตกต่างกันแล้ว ยังมีมูลค่าต่างกันถึงกว่า 31,500 เท่า จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและเจรจาก่อนหาข้อยุติว่าค่าใช้โครงข่ายที่แท้จริงมีมูลค่าเท่าไรกันแน่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ม.ค. โบว์ เมลดา เปิดตัว สวยปัง ขายแปลก พร้อมประมูลตัวคณิกาน้องใหม่!!
๒๐ ม.ค. เขตพระนครประสานเจ้าของพื้นที่-ผู้เช่าเร่งหาข้อยุติรื้อย้ายแผงค้าตลาดส่งเสริมการเกษตร
๒๐ ม.ค. กทม. กำชับ รฟม. เข้มมาตรการลดผลกระทบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ล้อมย้ายต้นไม้ตามเงื่อนไขที่กำหนด
๒๐ ม.ค. คุ้ย-ทวีวัฒน์ รุกหนักตลาดหนังสยองขวัญ-เปิด 13 สตูดิโอ ยิ่งใหญ่ ไลน์อัพหนังบิ๊กโปรเจค-ดึงดาราเอลิสต์ร่วมงาน 7 เรื่อง 7
๒๐ ม.ค. Zelection Interior บริการอินทีเรียดีไซน์หรู จากเอสบี ดีไซน์สแควร์ ยกระดับงานตกแต่งภายในไปอีกขั้น ด้วยนวัตกรรมจากคอลเลกชันใหม่
๒๐ ม.ค. SAM ยกระดับบริการ สายด่วน 1443 ตอบครบจบในเบอร์เดียว
๒๐ ม.ค. บางกอกแอร์เวย์สชวนหอเจี๊ยะฉลองรับตรุษจีน เสิร์ฟเมนูมงคล ขนมหัวผักกาดกุ้ง ณ บลูริบบอนคลับเลานจ์ สนามบินสมุย
๒๐ ม.ค. พิซซ่า ฮัท เสิร์ฟความฟิน Melts Fever ลดฟินเวอร์ เริ่มต้นเพียง 119 บาท
๒๐ ม.ค. อิ่มอร่อยพร้อมรับโชคต้อนรับปี มะเส็ง ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนกับแมริออท บอนวอย ในประเทศไทย
๒๐ ม.ค. บิ๊กบอส LEO ลั่น!กอดหุ้นแน่น มั่นใจปัจจัยพื้นฐานแกร่ง-อนาคตสดใส ย้ำ! ลุยธุรกิจตามยุทธศาสตร์ LEO Go Green