สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมมือกับ 4 กูรูเศรษฐกิจ แนะทางรอดอุตสาหกรรมในอนาคต

อังคาร ๒๙ กันยายน ๒๐๑๕ ๑๑:๓๖
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับวิทยากรเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศ จัดการประชุมวิชาการ OIE Forum ประจำปี 2558 ในวันที่ 24 กันยายน 2558 ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานและเข้าร่วมงานในครั้งนี้

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ นั่นคือ "การเปลี่ยนแปลงพลวัตโลก (Mega Trend)" ซึ่งถือเป็นบริบทการเปลี่ยนแปลงที่มีความเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน โดยมีประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 5 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 โครงสร้างประชากรโลก โดยในอีก 35 ปีข้างหน้า สัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าจากปัจจุบัน

ประเด็นที่ 2 การเติบโตของสังคมเมือง ส่งผลให้ประชากรย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาอาชีพในเมือง มากขึ้น ดังนั้นในหลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงเร่งดำเนินนโยบายพัฒนาสังคมชนบท โดยมุ่งเน้นการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ

ประเด็นที่ 3 การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและความต้องการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติและความขาดแคลนทรัพยากร โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตแต่กลับเห็นผลอย่างชัดเจนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ ภัยแล้ง ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักถึงภัยพิบัติจากธรรมชาติ ที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ประเด็นที่ 4 ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Digital Economy, Bio และ Nano Technology

และประเด็นสุดท้าย เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ เปลี่ยนไป จึงทำให้ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจเริ่มเคลื่อนย้ายจากเดิมที่เศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน แต่ในปัจจุบันขั้วอำนาจของเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีน อินเดีย บราซิล และกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายภายใต้บริบทใหม่หรือกระแสพลวัตโลกดังกล่าวนี้ รัฐบาลจึงได้จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย หรือโมเดลประเทศไทย 4.0 โดยในภาคอุตสาหกรรมเองต้องมีการพัฒนาและยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมของประเทศที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ มุ่งสู่การปรับเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่า (Value Added Industries) ไปสู่อุตสาหกรรมสร้างมูลค่า (Value Creation Industries) โดยการนำองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมกับเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาเป็นส่วนในการปรับ

โครงสร้างอุตสาหกรรม ภายใต้รากฐานของอุตสาหกรรมเดิมนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมต้องมีการดำเนินงานใน 3 ส่วน คือ ต่อยอด เสริมสร้าง และซ่อมแซม

"ต่อยอด" โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและสามารถตอบสนองต่อความต้องการในกระแสโลก อีกทั้งยังเป็นการรองรับโครงสร้างประชากรโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สำหรับการต่อยอดอุตสาหกรรมนั้นจะต้องอาศัยการลงทุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพิ่มมากขึ้น

"เสริมสร้าง" โดยการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งผู้ประกอบการ OTOP ที่มีอยู่แล้วให้มีความเข้มแข็ง และยังต้องสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีคุณภาพในภูมิภาคต่างๆ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นแนวนโยบายมุ่งเน้นการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ

"ซ่อมแซม" จากรากฐานอุตสาหกรรมเดิมซึ่งมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบนั้น หากมีการนำ องค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) การสร้างอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) การพัฒนาปัจจัยแวดล้อมเพื่อสนับสนุนภาคการผลิต (Enabling Factor) และการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตการค้าและการลงทุน (Connectivity) จะทำให้อุตสาหกรรมดั้งเดิมของประเทศไทยยังคงสามารถรักษาฐานการผลิตได้

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสพลวัตรโลกในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบของทุกภาคส่วน ภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยในการขับเคลื่อนประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยการบรรยาย และการเสวนาด้านเศรษฐกิจจากวิทยากรผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ อย่างนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และนายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการประจำภาคพื้นอินโดจีน บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเสวนาในหัวข้อ "ทิศทางอุตสาหกรรมไทยกับความท้าทายในอนาคต"

โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดการประชุม นอกจากนี้ยังมีการเสวนาย่อยตามสาขาอุตสาหกรรมถึง 3 เวที ที่บอกเล่ารายละเอียดที่มา และความสำคัญในหัวข้อที่การพัฒนาอุตสาหกรรมน่าสนใจ ดังนี้ (1) อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร (Agrobase Industry) (2) อุตสาหกรรมวิศวการ (Engineering Industry) (3) อุตสาหกรรมสนับสนุนและอุตสาหกรรมบริการ (Supporting Industry and Industrial Service) รวมถึงทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยในอนาคต เพื่อรับมือกับความผันผวนจากกระแสโลกและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในภูมิภาค นำพาประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และที่สำคัญคือ การเติบโตอย่างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้ให้ความสนใจจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมงานกว่า 800 คน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ