สินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกในอาเซียน ได้แก่ ข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าว มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ผลไม้ จำพวก ลำไยสด ทุเรียนสด มะม่วง เป็นต้น สินค้านำเข้าได้แก่ รังนกนางแอ่น น้ำมันปาล์มและเนื้อในเมล็ดปาล์ม มะพร้าวฝอยและน้ำมันมะพร้าว โกโก้ ปลาและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งในปี 2558 คณะกรรมการและคณะทำงานของศูนย์ติดตามฯในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ศึกษาศักยภาพสินค้าเกษตรระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้ทราบศักยภาพ โอกาสและอุปสรรค การค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศไทย เวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับเสนอแนะแนวทางการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการค้าสินค้าเกษตรผ่านแดน โดยศึกษาเส้นทางการขนส่งและการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญ จากด่านชายแดนไทยผ่านไปยัง สปป.ลาว กัมพูชา สิ้นสุดที่ประเทศเวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า นอกจากการค้ากับประเทศภายในอาเซียนด้วยกันเองแล้ว ประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญในการส่งออกในสินค้าผลไม้ของไทย โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในแต่ละปี ไทยส่งผลไม้ไปสาธารณรัฐประชาชนจีนแผ่นดินใหญ่มากถึง 1 ใน 3 ของปริมาณผลไม้ที่ไทยส่งไปขายทั่วโลก โดยมีมณฑลกวางตุ้ง (ภาคใต้) และนครเซี่ยงไฮ้ (ภาคตะวันออก) เป็นท่าเรือและตลาดหลักที่ใช้นำเข้าและขายส่งผลไม้ไทยเพื่อกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปัจจุบัน นอกจากการขนส่งทางเรือไปยังกวางตุ้งและเซี่ยงไฮ้แล้ว มีเส้นทางที่เชื่อมระหว่างภาคเหนือไปยังนครคุนหมิงของจีน และเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไปยังมณฑลกว่างซีของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผ่านลาวและเวียดนาม เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่พ่อค้าไทยใช้ส่งผลไม้ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน
เส้นทางขนส่งสินค้าเกษตรจากประเทศไทยที่สามารถขนส่งไปยังตลาดอาเซียนและตลาดคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สาธารณรัฐประชาชนสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียงตามลำดับ ได้แก่
1. เส้นทาง R3A อ.เชียงของ จ.เชียงราย ถึง นครคุนหมิง ประเทศจีน การขนส่งสินค้าไทยไปจีน บางส่วน พบว่า มีพ่อค้านำสินค้าไทยขนถ่ายรถบรรทุกเล็ก เพื่อแปลงเป็นสินค้าลาวเนื่องจากเสียภาษีน้อยกว่า แต่หลังจากที่มีการเปิดใช้สะพานไทย-ลาว แห่งที่ 4 แล้วช่วยให้การขนส่งระหว่างกันสะดวกมากขึ้น ไม่ต้อง ขนถ่ายสินค้าลงเรือ ซึ่งทำให้เสียเวลาและสินค้าเกษตรเสียหาย สินค้าเกษตรส่งออก คือ ผักและผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ มะพร้าวอ่อน กล้วยหอม กล้วยไข่ จากประเทศไทย และ สปป.ลาว
2. เส้นทาง Southern Corridor อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ผ่านพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ถึงท่าเรือ วุงเตา ประเทศเวียดนาม การขนส่งสินค้าจากไทยไปเวียดนามตอนใต้นิยมใช้เส้นทางเรือมากกว่า สำหรับเส้นทางบกเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าผลไม้ ผ่านด่านชายแดนมอคไบ (กัมพูชา-เวียดนาม) สินค้าเกษตรที่นำเข้า คือ มันสำปะหลัง สินค้าอุปโภคและบริโภคของไทย เช่น อาหารทะเล ผักและผลไม้ ของใช้เบ็ดเตล็ด ส่งออกไปยังประเทศกัมพูชาและเวียดนามตอนใต้
3. เส้นทาง R9 จ.มุกดาหาร ผ่าน สะหวันนะเขต ลาวบาว ประเทศลาว ผ่าน วินห์ ฮานอย ประเทศเวียดนาม ถึง ผิงเสียง นครกวางโจว ประเทศจีน บริเวณชายแดนลาว-เวียดนาม ได้มีการเริ่มใช้งานแบบ One stop service ช่วยให้การผ่านแดนสะดวกมากขึ้น สินค้าเกษตร คือ ยางพารา น้ำตาล ผักและผลไม้ โดยเฉพาะสินค้าเบ็ดเตล็ด เครื่องอุปโภคบริโภคส่งไปยังเวียดนามตอนกลาง
4. เส้นทาง Southern Coastal Corridor เป็นเส้นทางนี้จะสามารถเชื่อมโยงไทย กัมพูชา และเวียดนาม แต่จุดหมายปลายทางการขนส่งสินค้าโดยใช้ช่องทางนี้อยู่ที่บริเวณเกาะกง และจังหวัดพระสีหนุเท่านั้น ผู้ประกอบการนิยมขนส่งสินค้าทางทะเลมากกว่า ถึงแม้จะใช้เวลานานแต่มีต้นทุนที่ถูกกว่าและสามารถขนส่งได้คราวละปริมาณมาก และเขตเศรษฐกิจพิเศษพระสีหนุเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการลงทุนแปรรูปสินค้าประมงที่มีศักยภาพ
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า เส้นทางการขนส่งสินค้าเกษตรจากประเทศไทย สามารถนำสินค้าเกษตรของเราไปสู่ต่างประเทศได้สะดวก รวดเร็ว จากเส้นทางดังกล่าวข้างต้น และเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการในบริหารจัดการขนส่ง นอกเหนือจากการขนส่งทางเรือ