พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า "การพัฒนาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์นั้น จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จึงจะประสบความสำเร็จ เพราะโรคต่างๆ มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว เราจำเป็นต้องตามให้ทันเพื่อรับมือและป้องกันโรคต่างๆ รวมถึงหาทางส่งเสริมให้คนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดภาระของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งช่วยให้ประชาชนทั่วไปมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล และ รพ. รอยัล จึงได้สนับสนุนการจัดประชุมวิชาการร่วมมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ในการจัดประชุมครั้งที่ผ่านๆ มา ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวางทั้งจากการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ การนำเสนอการวิจัย รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้พบปะทำความรู้จักคุ้นเคยกัน เพื่อจะได้สร้างเครือข่ายที่กว้างขวาง นำไปสู่ความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาความก้าวหน้าทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้เราดูแลผู้ป่วยและดูแลสุขภาพของประชาชนได้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
ในปีนี้ คณะผู้จัดได้จัดหัวข้อการบรรยายที่น่าสนใจ อาทิ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารีกับศิลปวัฒนธรรม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พระผู้ทรงอัจฉริยภาพต้นแบบผู้สูงอายุไทย โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 25 กันยายน 2558
นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่ตอบรับการมาร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษอีกหลายท่าน ได้แก่ ปาฐกถาพิเศษโดย ศาสตราจารย์ ดร. คีธ แบล็ก ผู้อำนวยการสถาบันศัลยกรรมระบบประสาท
แมกซีน ดันนิทซ์, ซีดาร์-ไซไนน์ เมดิคัล เซ็นเตอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่อง ในหัวข้อ Advances in Brain Imaging from Alzheimer's to Brain ปาฐกถาโดย ศ. ดร.มิเชล ทากลิ อาทิ จากแผนกประสาทวิทยา ศูนย์การแพทย์ซีดาร์-ไซไน ในหัวข้อ Deep Brain Stimulation in Parkinson's Disease: Past, Present and Future ปาฐกถาเรื่องแม่และเด็ก โดยผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากมหาวิทยาลัยOregon Health & Science University รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ได้แก่ ศ. ดร. เดบอราห์ ลิววินซอน เรื่อง The Importance of Nutrients in Mothers & Babies to Prevent Tuberculosis และ ผศ. ดร.ไมล์ส เอลเลนบี เรื่อง Improving Neonatal Outcome with Telemedicine, Live Demonstration และปาฐกถาพิเศษเรื่องทารก โดยผู้เชี่ยวชาญจาก University of Texas MD Anderson Cancer Center รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย ผศ. ดร. ซีซาร์ นูเนซ หัวข้อ Acute Leukemias in Pediatrics และ เจเรมี วิลส์ ในหัวข้อ Multidisciplinary Care: Emerging Practices
นอกจากนี้ยังมีหัวข้อเกี่ยวกับความก้าวหน้าและการค้นพบใหม่ๆ ทางการแพทย์ที่น่าสนใจในหลากหลายสาขา เช่น นวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคไตจากเบาหวาน การหยุดบุหรี่ในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ เทคโนโลยีล่าสุดในการรักษามะเร็ง การจัดการความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง การรักษาการกรน การชักต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่อง การป้องกันโรคภูมิแพ้ การค้นพบใหม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคแพ้อาหาร การจัดการการแพ้อย่างรุนแรง การรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย นวัตกรรมด้านความงาม การรักษาผมร่วง และนวัตกรรมการรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง
ในส่วนของการพัฒนาพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ มีการบรรยายพิเศษที่น่าสนใจ อาทิ บทบาทของพยาบาลไทยในระดับนานาชาติ การดูแลผู้ป่วยช่วงระยะพักฟื้นหลังผ่าตัด บทบาทของพยาบาลในการบริจาคอวัยวะ กฎหมายที่มีผลต่อการปฏิบัติงานของพยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุข และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้โรงพยาบาลสามารถพัฒนาการบริหารจัดการและการบริการให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของสื่อออนไลน์และโลกยุคดิจิตอล คณะผู้จัดงานยังจัดให้มีการบรรยายพิเศษเรื่องเกี่ยวกับการบริหารข้อมูลและการใช้โซเชียลมีเดียในโรงพยาบาลอีกด้วย