ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีสูตรพื้นฐานในปัจจุบัน จะมีโอกาสดื้อต่อการรักษาร้อยละ 10 และจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้สูตรยาต้านเอชไอวีในสูตรสำรองที่ 2 และ 3ซึ่งยาราลเท็คกราเวียร์เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ประเทศจำเป็นต้องเตรียมไว้ถึงแม้ว่าในชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพจะครอบคลุมยาต้านไวรัสหลายชนิดแล้วก็ตาม แต่ยังมียาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะในสูตรดื้อยา ที่ยังไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและสิทธิประโยชน์ภายใต้หลักประกันสุขภาพ
"ยาราลเท็กกราเวียร์ที่มีขายอยู่ในประเทศไทยมีเพียงยี่ห้อเดียว และขายในราคา 13,620 บาทต่อขวดสำหรับ 1เดือน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่จำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้ต้องควักเงินจากกระเป๋าจ่ายเอง" นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าว
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ผู้ติดเชื้อฯ ยังไม่ได้รับการรักษาด้วยยาราลเท็คกราเวียร์ เพราะมีสิทธิบัตรผูกขาดตลาด จึงทำให้ยามีราคาแพงและไม่ได้รับการพิจารณาให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบบหลักประกันสุขภาพ
"สิทธิบัตรยาตัวนี้จะหมดสิทธิบัตรในปี 2568 แต่เราพบว่า บริษัทยากำลังมีความพยายามยืดอายุการผูกขาดให้ยาวนานออกไปอีกมากกว่า 5 ปี"
จากการติดตามการจดสิทธิบัตรยาโดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ บริษัทยาข้ามชาติได้มายื่นขอจดสิทธิบัตรยาราลเท็คกราเวียร์แล้ว 5 ฉบับ และทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาโดยสำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา
"คำขอรับสิทธิบัตรที่เรามายื่นคัดค้านนี้ ถือว่าเป็นคำขอฯ แบบสิทธิบัตรไม่มีวันตายและไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร เพราะขัดต่อ พรบ. สิทธิบัตร หากได้รับสิทธิบัตรจะยืดอายุการผูกขาดออกไปเกินกว่าปี 2573" นายนิมิตร์กล่าว
"ใน พรบ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2535มาตรา 9 (4) การประดิษฐในเรื่องวิธีการบำบัดหรือการรักษาโรคในคนและสัตว์จะมาขอจดสิทธิบัตรไม่ได้ แต่บริษัทมายื่นขอจดว่ายานี้ใช้รักษาเอชไอวีในมนุษย์ และในมาตรา 5 (1) และ (2)และ มาตรา 6 (5) และมาตรา 7 คำขอฯ นี้ไม่เข้าข่ายขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น เพราะการประดิษฐ์นั้นได้จดสิทธิบัตรไว้ในต่างประเทศนานแล้ว และเป็นวิชาที่สอนให้กับนักศึกษาปริญญาตรีคณะเภสัชศาสตร์ทั่วไป" นายนิมิตร์กล่าว
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวเสริมว่า บริษัทยามักใช้กลวิธีที่ยื่นจดสิทธิบัตรหลายๆ ฉบับกับยาเพียงชนิดเดียวในช่วงเวลาที่เหลื่อมกัน เพื่อทำให้สิทธิบัตรยาชนิดนั้นมีอายุการผูกขาดตลาดได้นานที่สุด ในบางกรณี ยาตัวเดียวมีอายุสิทธิบัตรรวมแล้วถึง 40 ปี
การยื่นคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แม้จะเป็นกลไกทางกฎหมาย เพราะระยะเวลาการยื่นคำคัดค้านใน พรบ. สิทธิบัตร กำหนดไว้เพียง 90 วันนับจากวันที่ประกาศโฆษณา และการที่จะรู้ว่าคำขอฯ ใดประกาศโฆษณาแล้วเพื่อนำมาศึกษาว่าเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิบัตรหรือไม่เพื่อคัดค้าน เป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน เพราะกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ประกาศให้คนทั่วไปรับทราบได้อย่างทั่วถึงและง่ายต่อการใช้งาน แต่ต้องไปคอยติดตามอย่างต่อเนื่องและจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อรับแผ่นซีดีที่มีข้อมูลคำประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรเป็นระยะๆ
"นอกจากนี้ กรมฯ ยังขาดระบบการเปิดเผยข้อมูลว่าการพิจารณาคำขอฯ เหล่านั้นดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว ก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียจะตรวจสอบและติดตามไม่ได้ ตัวอย่างกรณีคำขอฯ ที่พ้นระยะเวลายื่นตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์ 5 ปีหลังจากวันที่ประกาศโฆษณา กรมฯ ก็ไม่แจ้งให้สาธารณะได้รับรู้หรือติดตามได้" นายเฉลิมศักดิ์กล่าว
"การยื่นคัดค้านคำขอฯ ประเภทที่เป็นสิทธิบัตรแบบไม่มีวันหมดอายุ หรือever-greening และที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการสิทธิบัตรได้ จะช่วยลดการผูกขาดตลาดที่ไม่ชอบธรรม และทำให้มียาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันและทำให้ราคายาลดลง ซึ่งสุดท้ายแล้วจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพได้เร็วขึ้นและมากขึ้น" นายเฉลิมศักดิ์กล่าว
ทางด้านนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวว่า ทางกรมฯได้รับเรื่องไว้เพื่อดำเนินตามขั้นตอนต่อไป สำหรับกระบวนการหลังจากกรมรับหนังสือคัดค้านแล้วผู้ยื่นคัดค้านสามารถส่งหลักฐานเพิ่มเติมได้ภายใน 30 วันหลังจากนั้นกรมจะส่งเงินจำนวนคัดค้านให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรขอรับสิทธิบัตรโต้แย้งได้ภายใน 90 วันโดยผู้ขอรับสิทธิบัตรสามารถส่งหลักฐานเพิ่มเติมได้อีกภายใน 30 วัน จากนั้นกรมจะส่งคำโต้แย้งให้ผู้คัดค้านทราบในขณะเดียวกันกลุ่มงานคัดค้านวินิจฉัยจะดำเนินการวินิจฉัยและแจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้คัดค้านและผู้ขอรับสิทธิบัตรหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ภายใน 60 วัน