ส.อ.ท. จัดสัมมนาใหญ่ ประจำปี “Eco Innovation and Solution 2015” พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12

ศุกร์ ๐๒ ตุลาคม ๒๐๑๕ ๑๒:๔๓
สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดสัมมนาเชิงวิชาการประจำปี 2558 เรื่อง "Eco Innovation and Solution 2015" ขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2558 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 202 - 203 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานพิธีเปิดงาน รวมถึงกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2559 – 2564" พร้อมทั้งเป็นประธานมอบใบรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory)

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นับจากอดีตการเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นำมาซึ่งการสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยอาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมเท่าที่ควร ทำให้การพัฒนาหรือการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมักจะได้รับการต่อต้านจากภาคประชาสังคม โดยมองว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมจะเป็นการส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมในด้านลบ

ปัจจุบันการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งการแข่งขันด้านการตลาดด้านการยอมรับของสังคมและการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกันโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนพร้อมกับสร้างจิตสำนึกของผู้ประกอบการในการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงนำมาซึ่งแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ( Eco – Industry ) ซึ่งเป็นการผนวกรวมแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ ( Economy ) ที่มุ่งแสวงหาผลกำไรกับแนวความคิดเชิงนิเวศ ( Ecology ) ที่มุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลในระบบนิเวศให้ความสำคัญต่อการพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งแวดล้อมชุมชนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการ ดังนั้นเพื่อให้ทิศทางการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2559 – 2564 ให้มีความสอดคล้องตามกรอบแนวคิดแผนและนโยบายระดับต่างๆ ตลอดจนสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น จำเป็นจะต้องผลักดันให้ภาคการผลิตมีความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน ซึ่งการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ จะก่อให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพ มูลค่า และมาตรฐาน รวมถึงพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความเข็มแข็ง และแข่งขันได้ในเวทีโลก ซึ่งสามารถทำได้โดยการพัฒนาปัจจัยสนับสนุน ทั้งในด้านกฎหมายและกฎระเบียบ การอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการ การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ และบูรณาการนโยบายแผนงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุนและลดอุปสรรคในธุรกิจอุตสาหกรรม นอกจากนี้การส่งเสริมสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะอาศัยการกำกับดูแลอย่างทั่วถึง การถ่ายทอดองค์ความรู้และการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นกลไกในการขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การพัฒนาองค์กรและบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง

โดยยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2559 – 2564 ได้กำหนด 4 ข้อหลัก ได้แก่ 1.การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม 2.การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม 3.การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และ 4.การพัฒนาสมรรถนะองค์กร ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2559 – 2564 ไปสู่การปฏิบัติ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ทั้งภายในและนอกกระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้สามารถบูรณาการความร่วมมือและดำเนินการ โดยยึดแนวทางของแผนยุทธ์ศาสตร์ฯ แปลงไปสู่แผนปฏิบัติการในระดับต่าง ๆ เพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทรัพยากร และการติดตามและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมฤทธิ์ผลในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต

สำหรับการผลักดันขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรมฯ ช่วยกันส่งเสริมและผลักดันโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท ทุกขนาดอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก (SMEs) ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาผู้ประกอบการสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้มีส่วนในการทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมหลายโครงการ เช่น การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ(Eco Industrial Town) ในพื้นที่นำร่อง 15 จังหวัด โดยผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้มีการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่การเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ภาคอุตสาหกรรม โดยการผลักดันของสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมฯ ให้ความสำคัญในการริเริ่มเป็นผู้นำในการผลิตที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ได้เริ่มต้นจัดทำ "หลักเกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" ขึ้น ตั้งแต่ปี 2557 โดยมีการนำร่องหลักเกณฑ์ไป 2 บริษัท และสามารถขยายผลในปี 2558 ได้อีก 37 บริษัท กระทรวงอุตสาหกรรมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาอุตสาหกรรมฯ จะผลักดันบริษัทสมาชิกให้เข้าสู่การรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco Factory ได้อย่างต่อเนื่องตลอดไป" ดร.อรรชกา กล่าว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการสัมมนาวิชาการได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ความเข้าใจและประโยชน์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ซึ่งยังคงเน้นความต่อเนื่องในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การนำเสนอถึงกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมถึงการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับข้อกีดกันทางการค้าของต่างประเทศ ตลอดจนเทคโนโลยีในการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม

"สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 1 - 2 ตุลาคม 2558 โดยจัดให้มีกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจในประเด็นต่างๆ กับผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ อาทิ เสวนาพิเศษ เรื่องความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมต่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน การบรรยายพิเศษ เรื่องกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ,แผนการจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. 2558-2562

รวมถึงข้อกำหนดและหลักเกณฑ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กฎระเบียบและมาตรการส่งเสริมการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การนำเสนอหลักการแนวคิดของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ การนำเสนอผลงานทางวิศวกรรม นวัตกรรม และการจัดการอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน เป็นต้น รวมทั้งยังมีการจัดนิทรรศการด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยจากหน่วยงานต่างๆ ด้วย โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา ภาคประชาชน และสื่อมวลชน ไม่ต่ำกว่า 800 คน" ประธาน ส.อ.ท. กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version