ทั้งนี้ สิ่งแรกต้องทำเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินคือตั้งสติ และอย่าพยายามงัดประตูลิฟต์โดยพลการเด็ดขาด โดยหากลิฟต์ค้างมักไม่ค่อยมีอันตราย เนื่องจากลิฟต์มีพัดลมที่สามารถระบายอากาศได้เพียงพอ แต่หากไฟฟ้าดับและพัดลมระบายอากาศหยุดทำงาน คนที่ติดอยู่ในลิฟต์ส่วนใหญ่ มักจะประสบกับภาวะการคั่งของคาร์บอนไดออกไซต์ คือจะมีอาการมึนงง สับสน ปากเริ่มมีสีคล้ำ ให้รีบคลายเสื้อของผู้ป่วยให้หลวม ไม่ควรจับนอนหรือนั่ง แต่ควรประคองให้ยืนไว้ เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนักกว่าอากาศ บริเวณพื้นจึงมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก จากนั้นเมื่อนำผู้ป่วยออกมาได้แล้ว ให้รีบพาไปอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก อย่ามุง หรือหากมีออกซิเจนให้รีบให้ในทันที และโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่หากหัวใจหยุดเต้นควรรีบช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยเร็ว
นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ คือ ความเครียดจากการกลัวที่แคบ (Agoraphobia) ทำให้หายใจเร็ว ซึ่งจะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดถูกขับออกมากับลมหายใจมาก ส่งผลให้เลือดมีความเป็นกรดลดลงจึงเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อคล้ายตะคริวหรือที่เรียกว่าอาการมือจีบ โดยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือให้นำถุงพลาสติก หรือถุงกระดาษ เจาะรูเล็กๆ มาครอบปากและจมูก ให้ผู้ป่วยหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซต์ที่หายใจออกมามากให้ย้อนกลับเข้าไป โดยต้องเปิดให้หายใจในอากาศปกติเป็นระยะ และที่สำคัญคือต้องทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลายด้วย แต่อย่างไรก็ตามหากมีอาการบ่อยๆ ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาจากสาเหตุที่แท้จริง
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า หากต้องเผชิญกับอันตรายกับ "ลิฟต์ตก" ซึ่งสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทยระบุว่าโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เนื่องจากลิฟต์รุ่นใหม่ๆ จะมีระบบล็อค แต่หากเกิดขึ้นให้ผู้ประสบเหตุกดปุ่มให้ลิฟต์จอดทุกชั้น เพราะเมื่อไฟฟ้าสำรองทำงานจะหยุดลิฟต์จากการร่วงลงมา และให้หาที่จับให้แน่น พิงหลังและศีรษะเข้ากับผนังให้เป็นเส้นตรง เพื่อช่วยป้องกันหลังและกระดูก และควรงอเข่า
สิ่งสำคัญคือควรปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันอันตราย เช่น ไม่ขึ้นลิฟต์เกินจำนวนคนที่ระบุไว้ , อย่าพิงประตูลิฟต์ขณะยืนรอ เนื่องจากประตูลิฟต์ไม่ได้แข็งแรงและไม่ได้ออกแบบมารับน้ำหนักคนพิงจึงอาจพังได้ , ประตูลิฟต์อาจหนีบคนได้หากระบบเซ็นเซอร์เสีย และหากไฟไหม้ห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาดเพราะอาจสำลักควันในปล่องลิฟต์ หรือลิฟต์ไปเปิดในชั้นที่ไฟกำลังไหม้ทำให้คนในลิฟต์เสียชีวิตทันทีได้