"ไก่เนื้อ" จากเมนูจานเหลา : สู่จานข้าวเราทุกคน โดย วีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ

ศุกร์ ๐๒ ตุลาคม ๒๐๑๕ ๑๘:๕๖
หากย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน ถ้ามีใครชวนเราไปกินไก่ที่ภัตตาคารหรือซื้อมาทำกินที่บ้านจะเป็นเรื่องที่รู้สึกว่าวันนี้มีลาภปากอีกแล้ว นั่นเพราะในอดีตเนื้อไก่มีราคาแพงกว่าเนื้อหมูถึงหนึ่งเท่าตัวทำให้เนื้อไก่กลายเป็นอาหารของคนรวย คนทั่วไปจะซื้อหามารับประทานกันในช่วงเทศกาลหลักอย่างตรุษ-สารท หรือมีงานฉลองสำคัญ แต่มาวันนี้เนื้อไก่กลับกลายเป็นอาหารโปรตีนราคาประหยัดที่ใครๆก็เข้าถึงได้ ซื้อหาได้ง่ายที่รับประทานได้ตลอดเวลา จนเรียกได้ว่า "เนื้อไก่" กลายเป็นเมนูหลักเทียบชั้นกับเนื้อหมูคู่โต๊ะอาหารของคนไทยไปแล้ว

สาเหตุที่ไก่เนื้อของไทยในอดีตมีราคาแพงมากเพราะเป็นการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อย แบบปล่อยเลี้ยงหลังบ้านโดยให้กินอาหารจากเศษเหลือในครัวเรือน เรียกว่าเลี้ยงกันตามมีตามเกิด ทำให้มีอัตราการตายสูงไม่ต่ำกว่า 10% เช่น เลี้ยงไก่ 20 ตัว ตายไป 2 ตัว ยังเหลืออีกตั้ง 18 ตัว แต่ละบ้านจึงไม่สนใจในประเด็นความสูญเสีย เพราะจุดประสงค์ในการเลี้ยงเพียงเพื่อใช้รับประทานในครัวเรือนหรือขายในชุมชนเท่านั้น ที่สำคัญไก่บ้านต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงนานกว่า 5 เดือน จึงจะจับขายได้ จึงกลายเป็นข้อจำกัดของการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองหรือไก่บ้านในอดีต คนที่ไม่เลี้ยงจึงจำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเนื้อไก่ในราคาสูง

จากข้อจำกัดดังกล่าว กลายเป็นโจทย์สำคัญที่นำมาสู่การพัฒนาการเลี้ยงไก่ในประเทศไทย โดยการเลี้ยงไก่เนื้อในเชิงอุตสาหกรรมเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปีพ.ศ.2513 จากการร่วมทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับ อาร์เบอร์ เอเคอร์ส อิงค์ (Arbor Acres Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตสายพันธุ์ไก่รายใหญ่ที่สุดของอเมริกา ก่อตั้งเป็น บริษัท อาร์เบอร์เอเคอร์ส ประเทศไทย จำกัด นำไก่เนื้อสายพันธุ์อาร์เบอร์เอเคอร์สเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย พร้อมนำระบบการจัดการที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการเลี้ยงไก่ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้สมัยใหม่สู่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ตลอดจนวิชาการด้านการป้องกันโรค และความรู้เรื่องการตลาดที่มีประสิทธิภาพ

การเลี้ยงไก่เนื้อจึงได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับมาตลอดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีการค้นคว้าและปรับปรุงสายพันธุ์ไก่เนื้อ เพื่อให้ได้ไก่ที่มีลักษณะเด่น เช่น มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว มีอัตราการแลกเนื้อสูง กล่าวคือ ไก่กินอาหารปริมาณน้อยแต่สามารถเปลี่ยนอาหารที่กินเป็นเนื้อได้มากขึ้น สุขภาพแข็งแรง และมีความต้านทานโรคที่ดี มีอัตราการเลี้ยงรอดสูง แม้ระบบการเลี้ยงจะมีการพัฒนาปัจจัยต่างๆตามลำดับ การเลี้ยงแบบชาวบ้านก็ยังคงดำเนินควบคู่กันไป เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบเนื้อเหนียวนุ่มของไก่บ้าน

ขณะเดียวกัน ยังมีการวิจัยและพัฒนาสูตรอาหารไก่ให้มีสารอาหารและโภชนาการครบถ้วนเหมาะสมกับพันธุ์ไก่ที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นนั้นควบคู่ไปด้วย ทำให้ไก่สามารถเติบโตตามศักยภาพของพันธุกรรม ที่สำคัญไม่ต้องใช้สารเร่งการเจริญเติบโต คนไทยจึงมีเนื้อไก่ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยทางอาหารในระดับมาตรฐานสากลไว้บริโภค

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้ออีกช่วงหนึ่งคือ การนำเทคโนโลยีโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือ โรงเรือนอีแวป (EVAP : Evaporative Cooling System) เข้ามาใช้ โดยเฉพาะเมื่อปีพ.ศ.2547 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากการระบาดของไข้หวัดนกในไทยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียกับอุตสาหกรรมและประเทศมา ส่งผลผู้เลี้ยงไก่เนื้อ-ไก่ไข่ทุกระดับ หันมาลงทุนปรับปรุงโรงเรือนให้เป็นระบบปิด เพื่อลดเสี่ยงจากโรคระบาดและป้องกันสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค เช่น นก หนู และแมลงต่างๆ ทั้งยังสามารถป้องกันโรคระบาดต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่ปลอดไข้หวัดนกมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน

จากปัจจัยทั้งหมดข้างต้นส่งผลให้ผู้ผลิตไก่เนื้อไทย ทั้งรายย่อยและรายใหญ่เติบไปด้วยกัน เพราะเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยต่างๆ ถูกถ่ายทอดต่อไปยังรายย่อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงและเพิ่มปริมาณการผลิตให้ตรงต่อความต้องการบริโภค ส่งผลให้ราคาเนื้อไก่ที่เคยเป็นอาหารของเศรษฐีเป็นอาหารที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ และยังสามารถส่งออกไปทั่วโลกด้วยการผลิตแบบมาตรฐานเดียว (single standard) ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้

การพัฒนาในอุตสาหกรรมไก่เนื้อ ยังเป็นการสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่รายย่อย บางรายเติบโตขึ้นสู่รายกลาง และพัฒนาจนกลายเป็นเกษตรกรรายใหญ่เลี้ยงไก่ถึงล้านตัวก็มีอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากการสำรวจตัวเลขของผู้เลี้ยงไก่เนื้อเพื่อการค้าทั้งหมดกว่า 34,500 ครัวเรือน แบ่งออกเป็น กลุ่มที่เลี้ยงไก่เนื้อน้อยกว่า 10,000 ตัวอยู่ 90% กลุ่มที่เลี้ยง 10,000 -100,000 ตัว มี 9% และกลุ่มที่เลี้ยงไก่มากกว่า 100,000 ตัว มีอยู่ 1% ทั้งนี้เป็นทั้งฟาร์มผู้เลี้ยงอิสระ และฟาร์มที่อยู่ในรูปแบบคอนแทรคฟาร์ม ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ก็มีไม่ต่ำกว่า 25 บริษัทอุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อจึงช่วยสร้างอาชีพและความมั่นคงในชีวิตแก่เกษตรกรไทยและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน และทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรยังคงมุ่งมั่นร่วมมือกันพัฒนาการเลี้ยงไก่ให้เข้าสู่มาตรฐาน เพื่อผลิตไก่คุณภาพสำหรับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากระทั่งทุกวันนี้... หาใช่การทำลายรายย่อยดังเช่นที่ NGO รายหนึ่งกล่าวไว้อย่างบิดเบือน!!

พลังของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้ "ไก่เนื้อ" กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับที่ 9 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยแต่ละปีจะมีการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์มากกว่า 6 แสนตัน นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาพัฒนาชาติไทยถึงปีละกว่า 8 หมื่นล้านบาท นี่คือความภาคภูมิใจของคนไทยและเกษตรกรไทย ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตอาหารเพื่อผู้บริโภคทั่วโลก ดังยุทธ ศาสตร์ "ครัวไทยสู่ครัวโลก" ที่ประเทศไทยต้องการจะเป็น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version