มรภ.สงขลา ปลุกกระแสนุ่งซิ่น สวมผ้าไทย สวย หล่อ สไตล์ท้องถิ่น

จันทร์ ๐๕ ตุลาคม ๒๐๑๕ ๐๙:๑๕
เริ่มจาก นุ่งซิ่น แลเมือง ต่อยอดสู่ นุ่งซิ่น ไม่นุ่งสั้น ทุกวันพุธ ขยับขยายไปยัง นุ่งผ้าปาเต๊ะ เป๊ะทุกวันพฤหัส และอีกหลายวาระที่ไม่ได้กล่าวถึง กับกระแสหยิบผ้าไทยและผ้าท้องถิ่นใต้มาสวมใส่ ทั้งในหมู่คณาจารย์และบุคลากร มรภ.สงขลา ซึ่งกำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้

ปรากฏการณ์นุ่งผ้าซิ่น สวมผ้าไทย ที่เกิดขึ้น ณ มรภ.สงขลา คงต้องยกความดีให้กับ อ.มณี อินทพันธ์ โปรแกรมวิชาภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในฐานะผู้จุดประกายเริ่มแรกกับโครงการนุ่งซิ่น แลเมือง ซึ่งนำนักศึกษาในโปรแกรมฯ ร่วม 50 ชีวิต นุ่งซิ่นผืนสวยไปเดินเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมบริเวณถนนนครนอก นครใน และถนนนางงาม พร้อมทั้งสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและโรงงิ้ว สถานที่สำคัญของเมืองสงขลา อันเป็นการส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม พร้อมทั้งปลูกฝังรากฐานทางจิตใจที่ดีงามให้แก่นักศึกษาปี 1 ที่มาจากต่างที่ต่างถิ่น ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน

อ.มณี เท้าความถึงที่มาของโครงการ นุ่งซิ่น แลเมือง ว่า มีโอกาสได้ไปร่วมโครงการอบรมภาษาที่ประเทศลาว ซึ่งเป็นการไปเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศสู่อาเซียน สิ่งที่ได้จากการอบรมคือการเขียน การอ่าน การแปลภาษาลาว ทำให้ตระหนักถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรม ดังคำกล่าวที่ว่า ลาวกับไทยคือพี่น้องกัน เรามีประวัติศาสตร์บางส่วนร่วมกันอยู่ จึงนึกย้อนถึงวิถีชีวิตของบรรพบุรุษว่าช่างงดงามและมีคุณค่า ควรแก่การศึกษาเรียนรู้ เพื่อลูกหลานจะได้ไม่ลืมภูมิหลังของชนชาติตนเอง

"อยากให้นักศึกษาที่เรียนภาษาอังกฤษเข้าใจว่า การที่เราเรียนภาษาและวัฒนธรรมของชาติอื่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องปฏิบัติตัวแบบเดียวกัน หรือเราต้องคิดเหมือนเขา เราแค่เรียนรู้และทำความเข้าใจว่าที่เขาประพฤติปฏิบัติแบบนั้นเพราะมีเหตุผลอะไรมาสนับสนุน โดยที่เราต้องไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง เราเรียนภาษาเพราะต้องการจะสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ แต่เราก็มีความภูมิใจในศิลปะและวัฒนธรรมของชาติเราเอง ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ ก็จะให้นักศึกษากลับมาค้นคว้าต่อในภาคภาษาอังกฤษ เรื่องสงขลากับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ที่เคยเข้ามาติดต่อค้าขาย หรือมีอิทธิพลต่อเมืองสงขลา ทั้งทางด้านภาษาและเศรษฐกิจ พร้อมทั้งนำเสนอให้เพื่อนๆ ฟัง จากนั้นก็ทำโครงการนุ่งซิ่น ไม่นุ่งสั้น ทุกวันพุธ เริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 2 กันยายน เป็นต้นมา"

ก่อนหน้านี้ อาจารย์มณี เคยทำโครงการนำนักศึกษาไปเรียนรู้วิถีชีวิตของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เมื่อปีที่แล้ว แต่ในเมื่อสงขลามี art street จึงอยากนำนักศึกษาไปเที่ยวชมบ้าง เพราะเห็นคนจากที่ต่างๆ มาถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงเฟสกันสนุกสนาน แต่นักศึกษาเราบางคนมาเรียนที่นี่ 4 ปี ยังไม่เคยเข้าไปเที่ยวในตัวเมืองสงขลาด้วยซ้ำ จึงอยากพาเด็กๆ ไปเที่ยวชม ประกอบกับมีวิทยากรมือหนึ่งคือ อาจารย์นันทยา ศรีวารินทร์ จากโปรแกรมวิชาประวัติศาสตร์ ผู้สามารถทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิตได้ ทำหน้าที่บรรยายเกี่ยวกับสถานที่สำคัญๆ ของเมืองสงขลา

ด้านนักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการ อย่าง นายยูนุร โต๊ะหวัง หรือ "โต้" กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสไปเที่ยวชมย่านเมืองเก่าสงขลา จึงรู้สึกตื่นเต้นมาก ซึ่งพื้นเพของตนเป็นคน จ.พัทลุง เมื่อได้มาเรียนที่ มรภ.สงขลา ก็อยากจะรู้จัก จ.สงขลา ให้มากขึ้น ดังนั้น การได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมนุ่งซิ่น แลเมือง เล่าเรื่อง เมืองเก่า จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้รู้ถึงความเป็นมาที่น่าสนใจของย่านเมืองเก่าสงขลา

ขณะที่ น.ส.สุทธิพร หนูวุ่น หรือ "กิ๊บ" กล่าวบ้างว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้เกิดเป็นคนสงขลา ดินแดนเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรมงดงาม และภูมิใจที่คุณตาคุณยายยังคงรักษาเมืองเก่าให้คนรุ่นหลังได้เยี่ยมชม ซึ่งแม้ตนจะเป็นคน จ.สงขลา แต่ก็รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เห็นวัฒนธรรมต่างๆ ของย่านเมืองเก่า ดังนั้น จึงอยากฝากให้คนรุ่นหลังช่วยกันธำรงรักษาสิ่งที่ดีงามเหล่านี้เอาไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน

ไม่เพียงเท่านั้น อ.มณี ยังได้นำนักศึกษานุ่งผ้าซิ่นชมงานศิลปะ ในนิทรรศการอาร์ตริมวัง ครั้งที่ 2 "ไม่มีความทุกข์...ในงานศิลปะ" นิทรรศการภาพวาดจิตกรรม สะท้อนถึงเรื่องราวชีวิต การเมือง สัจธรรม โดย อ.กชกร ริมวังตระกูล ศิลปินชาว จ.ปัตตานี ณ PSU Art Gallery ศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก อ.กชกร ริมวังตระกูล เจ้าของนิทรรศการนำชมผลงานและพูดคุยกับคณะผู้เยี่ยมชมด้วยตนเอง ซึ่ง อ.มณี ไม่ลืมที่จะมอบผ้าซิ่นผืนสวยให้ อ.กชกร ไว้เป็นที่ระลึก

กระแสนุ่งผ้าซิ่น สวมผ้าไทย จะมาไวไปไว หรือคงอยู่ถาวรจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร ก็ด้วยความร่วมมือของชาว มรภ.สงขลา ผู้มีหัวใจรักษ์ความเป็นไทย และช่วยกันดำรงเอกลักษณ์ท้องถิ่นใต้ ผ่านเครื่องกายอันชวนมอง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ