จีอี เฮลธ์แคร์ เปิดตัวระบบอัลตราซาวด์เต้านมแบบอัตโนมัติที่มีความสามารถในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเสริมประสิทธิภาพการเอ็กซเรย์เต้านม (การทำแมมโมแกรม) ให้กับผู้หญิงที่มีภาวะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูงและยังไม่เคยได้รับการตรวจวินิจฉัยแบบละเอียดมาก่อน เทคโนโลยีการถ่ายภาพเต้านมของจีอีที่เปิดตัวในครั้งนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจพบมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีภาวะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูงได้เพิ่มขึ้น 35.7% เมื่อเทียบกับการทำแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียว1เนื่องจากอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมและอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับปรุงและเลือกใช้วิธีการตรวจคัดกรองแบบเฉพาะเจาะจงและเชื่อถือได้ การเอ็กซเรย์เต้านมหรือการทำแมมโมแกรมเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในปัจจุบันในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิง แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันกับผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภาวะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูง
นายกฤษดา เพียรเพิ่มภัทร ผู้จัดการประจำประเทศไทย จีอี เฮลธ์แคร์กล่าวว่า "มีงานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำอัลตราซาวด์เพื่อตรวจคัดกรองผู้หญิงที่มีภาวะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของผู้หญิงทั้งหมด" และกล่าวเสริมว่า "การทำแมมโมแกรมยังคงเป็นมาตรฐานที่ใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะได้ผลน้อยลงเมื่อใช้ตรวจผู้หญิงที่มีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูง ดังนั้นการเสริมประสิทธิภาพให้กับการทำแมมโมแกรมด้วยระบบอัลตราซาวด์เต้านมแบบอัตโนมัติ จะช่วยให้แพทย์ค้นพบก้อนเนื้อที่ไม่สามารถมองเห็นจากการทำแมมโมแกรมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ได้เร็วยิ่งขึ้น"
ผู้หญิงเอเชียมักมีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูงกว่าผู้หญิงในภูมิภาคอื่น2 ผลการศึกษาสำคัญจากหลายสถาบันระบุว่าภาวะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมที่สูงไม่เพียงแต่เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมขึ้น 4-6 เท่า แต่ยังเป็นสาเหตุให้การตรวจพบมะเร็งด้วยวิธีทำแมมโมแกรมทำได้ยากยิ่งขึ้น
โดยหนึ่งในผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine เผยว่า ประสิทธิภาพการทำแมมโมแกรมที่ใช้ตรวจคัดกรองผู้หญิงที่มีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูงจะลดลง 36 ถึง 38 เปอร์เซ็นต์ เพราะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อจะบดบังก้อนเนื้อไว้ (Boyd, et al, NEJM 2007:356:227-36M) และยิ่งมีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูงมากขึ้นเท่าไร ความแม่นยำในการตรวจคัดกรองด้วยการทำแมมโมแกรมก็ยิ่งลดลงเท่านั้น
ระบบอัลตราซาวด์แบบอัตโนมัตินี้ช่วยยกระดับการให้การรักษาผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีอัลตราซาวด์สามมิติที่สามารถถ่ายภาพเต้านมผู้หญิงที่มีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูงได้อย่างสะดวกและรวดเร็วภายในเวลาประมาณ 15 นาที และยังมีคุณสมบัติใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับร่างกายของผู้หญิงและให้ภาพที่มีความแม่นยำชัดเจนมากขึ้น