นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รักษาราชการแทน อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงจากเดิมในวันที่ 15 ตุลาคม 2558 จะปิดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ เลื่อนการปิดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงไปจนถึงเดือน พฤศจิกายน 2558 หรือจนกว่าสภาพอากาศจะไม่เอื้ออำนวย สำหรับในช่วงเดือนตุลาคม 2558 ถึงประมาณเดือนพฤศจิกายน 2558 ยังคงปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ สำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่ง ณ ขณะนี้มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 9 หน่วย ได้แก่หน่วยปฏิบัติการ ฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่,ตาก,พิษณุโลก ,นครสวรรค์,กาญจนบุรี,นครราชสีมา,อุดรธานี,ระยอง และ ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเพิ่มจำนวนเที่ยวบินเพื่อช่วงชิงสภาพอากาศระยะนี้ในการเพิ่มปริมาณและการกระจายตัวการตกของฝนให้ตกเหนือเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ที่ยังอยู่ในสภาวะวิกฤติในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง
ทั้งนี้การปฏิบัติการฝนหลวงจะต้องไม่ไปซ้ำเติมความเดือดร้อนในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย ซึ่งทางศูนย์/หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจะต้องดำเนินการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมาได้เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก เพื่อเพิ่มรัศมีของการบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือในพื้นที่ภาคเหนือ โดยทำงานประสานร่วมกับหน่วยปฏิบัติการ ฝนหลวงพิษณุโลก และเชียงใหม่ ในการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนที่สำคัญในภาคเหนือ เช่น เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เป็นต้น จากผลรายงาน การปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีฝนตกคิดเป็นร้อยละ94 ของการขึ้นปฏิบัติการ ฝนหลวง และช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำหลักที่สำคัญ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยประมาณวันละ 7 ล้านลบ.ม.ต่อวัน และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยประมาณวันละ 6 ล้านลบ.ม.ต่อวัน และเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่เขื่อนภูมิพล มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยประมาณวันละ 13 ล้านลบ.ม.ต่อวัน เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยประมาณวันละ 29 ล้านลบ.ม.ต่อวัน อย่างไรก็ตามหากสภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง กรมฝนหลวงและการบินเกษตรก็จะปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งจะปฏิบัติการฝนหลวงจนกว่าสภาพอากาศจะมีความชื้นต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมในการทำฝนได้ สามารถติดตามผลการปฏิบัติการฝนหลวงได้ทาง application Fonluang + และfacebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร