ก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่านางสาวเพ็ญแข และนางสาวทัน ซึ่งขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นกรรมการการลงทุนของ BLISS มีอำนาจตัดสินใจและอนุมัติการลงทุนในหลักทรัพย์แทนบริษัท ได้ร่วมกันแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ BLISS โดยตัดสินใจหรือดำเนินการให้มีการนำทรัพย์สินของ BLISS ไปลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ซี.ไอ.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CIG-W1) ในปี 2553 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคลภายนอก อันทำให้ BLISS ขาดทุนเป็นเงิน 17.4 ล้านบาทจากการลงทุนในช่วงที่CIG-W1 ใกล้หมดอายุการใช้สิทธิและมีราคาต้นทุนสูง และขายหลักทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดออกไปในช่วงราคาต่ำ
การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 311 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษนางสาวเพ็ญแขและนางสาวทันต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งตลอดระยะเวลาการกล่าวโทษดำเนินคดี บุคคลทั้งสองจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในตลาดทุน และไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนได้
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจในการตัดสินคดีของศาลยุติธรรมตามลำดับ