ดร. อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า จากปัญหาภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่มีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ทั้งการฉ้อโกง การหลอกลวงออนไลน์ การคุกคามโดยเจาะระบบ การโจมตีระบบเพื่อให้หยุดทำงาน รวมถึงการใช้โปรแกรมไม่พึงประสงค์ในการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ ก่อการร้าย และก่อวินาศกรรมรูปแบบใหม่
ภัยคุกคามไซเบอร์เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต หรือความมั่นคงในภาพรวมของประเทศ ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลที่กำลังขับเคลื่อนสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือการสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ อันเป็นภารกิจสำคัญของไทยเซิร์ต ภายใต้ เอ็ตด้า ที่เป็นหน่วยงานหลักในการรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์และช่วยบูรณาการการทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในประเทศและนานาชาติ โดยเฉพาะ เซิร์ตในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
"ในขณะเดียวกัน การเฟ้นหาคนเก่งๆ ด้าน ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์หรือไซเบอร์ซีเคียวริตี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เกิดโครงการการแข่งขัน ไทยแลนด์ ซีทีเอฟ คอมเพททิชั่น 2015 (Thailand CTF
Competition 2015) เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทย 2 ทีม จำนวน 6 คน ไปแข่งไซเบอร์ ซี เกม (Cyber SEA Game)ให้ได้สุดยอดคนเก่งทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ของอาเซียน ทั้งนี้ทีมที่ชนะในวันนี้ถึงแม้ว่าจะ
ชนะในเวทีอาเซียนได้หรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยก็เป็นการแสดงความพร้อมของประเทศไทยว่าเราสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ผมอยากให้พวกเราทุกคนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ภูมิใจที่มีจุดยืนเดียวกันว่า ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นเรื่องสำคัญ และจะช่วยกันดูแลโลกไซเบอร์ต่อไป"
ด้าน สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ เอ็ตด้า เปิดเผยว่า จากตัวเลขจำนวนเบอร์มือถือในประเทศไทยที่ปัจจุบันสูงเกือบ 98 ล้านเลขหมาย หนึ่งคนมีมากกว่าหนึ่งเบอร์ มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเกือบ 28 ล้านคน โดยมีคนใช้ไลน์ถึง 33 ล้านบัญชี มีการใช้เฟซบุ๊ก ถึง 35 ล้านบัญชี ขณะเดียวกันก็มีมูลค่าการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ อีเปย์เม้นท์ กว่า 800 ล้านล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ในความสะดวกสบายเหล่านี้ มีความเสี่ยงและอันตรายที่แฝงมาด้วย ซึ่งองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญยิ่งขึ้น กับการป้องกันองค์กรของตนจากความเสี่ยงและอันตรายดังกล่าว ซึ่งจากรายงานไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ของบริษัท แคสเปอร์สกี้ พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 7 ของโลกที่มีความเสี่ยงต่อการโจมตีด้วยมัลแวร์หรือที่เรารู้จักกันว่า ไวรัสคอมพิวเตอร์
"ดังนั้นความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ถือเป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่งในสังคมดิจิทัล และบุคลากรด้านนี้ยังมีจำนวนไม่มากนักและเป็นที่ต้องการของทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านดังกล่าวอยู่มาก และ เอ็ตด้าได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดการแข่งขันสุดยอดนักไซเบอร์ด้านความมั่นคงปลอดภัย ในงาน ไทยแลนด์ ซีทีเอฟ คอมเพททิชั่น2015 (Thailand CTF Competition 2015) เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เรื่องความมั่นคงปลอดภัยให้กับเยาวชนยุคใหม่ในวงกว้าง พร้อมเป็นเวทีในการแสดงฝีมือให้กับคนรุ่นใหม่" สุรางคณา กล่าว
การแข่งขันเพื่อค้นหาสุดยอดนักไซเบอร์ด้านความมั่นคงปลอดภัย Thailand CTF Competition 2015 ได้เชิญชวนนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 15 - 29 ปี ที่สนใจด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เข้าชิงชัยสุดยอดฝีมือด้านความมั่นคงปลอดภัยระดับประเทศไทย เข้าร่วมแข่งขันงาน CTF (Capture The Flag) ระดับอาเซียน ในงานไซเบอร์ ซี เกม (Cyber Sea Game)
ณ ประเทศอินโดนีเซีย โดยหลังจากผ่านรอบดังกล่าวแล้ว จะได้รับสิทธิเพื่อเข้าร่วมแข่งขันระดับโลกในงาน เซคคอน ซีทีเอฟ 2015 (SECCON CTF 2015) ณ ประเทศญี่ปุ่น ต่อไป
สำหรับผู้เข้าแข่งขันต้องใช้ความสามารถในการคิด วิเคราะห์แก้ไขปัญหาโจทย์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 121 ทีม และผ่านการคัดเลือกรอบแรกแล้ว 8 ทีม เพื่อเข้าแข่งชันชิงแชมป์ประเทศไทยในวันนี้
นอกจากนี้ เอ็ตด้า ยังจัดงานสัมมนา ซิเคียวริตี้ เฮลท์ เช็ค เดย์ (Security Health Check Day) เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงจากปัญหาภัยคุกคามไซเบอร์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น โดยได้ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาแลกเปลี่ยนความรู้ให้องค์กรต่าง ๆ เนื่องจากภัยคุกคามไซเบอร์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต หรือความมั่นคงในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยสู่ยุคเศรษฐกิจ ดิจิทัล