นายไชยยันต์ สุขบัติ คณะกรรมการหมู่บ้านเล่าสภาพปัญหาให้ฟังว่า ประชาชนทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่ให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะ กำจัดขยะไม่ถูกวิธี และบุคคลภายนอกที่ขับรถผ่าน ก็นำขยะมาทิ้งทำให้ขยะเน่าและส่งกลิ่นเหม็น ในหมู่บ้านจะมองเห็นขยะล้นถัง สุนัขคุ้ยเขี่ย ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว
ปี 2557 ผู้นำชุมชนได้ประชุมจัดตั้งสภาชุมชน โดยการสนับสนุนของสสส. เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยให้ตัวแทนแต่ละส่วนได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการ มีคณะกรรมการสภาทั้งหมด 40 คน แล้วจัดประชุมร่วมกันทุกเดือน เพื่อพูดคุยหาทางออกปัญหาขยะของชุมชน ก่อนจะช่วยกันวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และเสนอทางออก นำข้อมูลมาประชุมชาวบ้านเพื่อลงมติร่วมกัน ว่าจะร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้หรือไม่
นอกจากนี้ยังมีการรับสมัครครัวเรือนต้นแบบการจัดการขยะ 50 ครัวเรือน คัดแยกขยะเป็นตัวอย่างแก่สมาชิกรายอื่นๆ การไปศึกษาดูงานธนาคารขยะในชุมชนอื่นที่ประสบความสำเร็จ แล้วนำมาปรับใช้ในชุมชนของตัวเอง ปัจจุบันสมาชิกในหมู่บ้านมีวินัยในการจัดการขยะ เล็งเห็นความสำคัญ และให้ความร่วมมือคัดแยกขยะมากขึ้น ส่งผลให้เกิดธนาคารขยะ ที่ดำเนินงานโดยคณะกรรมการในชุมชน เปิดรับซื้อขยะจากชาวบ้านทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน และวันนี้ 6 ตุลาคม เป็นการรับซื้อขยะรอบพิเศษ
นางรัชภร นิธิชุติเดชา ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า คณะกรรมการสภาชุมชน ต้องเป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหา และยังมีหน้าที่วางแผนการทำงาน ติดตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการไปศึกษาดูงาน เพื่อหาความรู้มาจัดการขยะ
นายไชยยันต์ สุขบัติ คณะกรรมการหมู่บ้าน กล่าวว่าก่อนดำเนินงานปี 2557 เดือนสิงหาคม มีขยะ 7,400 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หลังจากได้มีสภาชุมชน 1 ปี ปัจจุบันขยะลดลงเหลือเพียง 1,274 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หรือเหลือเพียง 8.22 ตัน จากเดิม 32.75 ตันต่อเดือน ความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ ขยะลดลงจากการคัดแยกอย่างถูกวิธี ขยะเปียกถูกฝังกลบ หรือทำปุ๋ยหมัก ขยะทั่วไป เก็บลงถังเพื่อให้รถขยะจากเทศบาลมารับ ส่วนขยะที่เป็นเศษเหล็ก พลาสติก ก็นำมาขาย ปัญหาขยะล้นถังรอรถเทศบาลมาเก็บ สุนัขคุ้ยเขี่ยส่งกลิ่นเหม็น ไม่มีให้เห็นในชุมชนด้ามพร้าอีกต่อไป"
ด้านนายวิชัย อำพันธ์ รองนายกเทศมนตรีตำบลขามใหญ่ กล่าวว่าการกำจัดขยะในเขตเทศบาลฯ ใช้งบประมาณสูงถึงปีละ 12 ล้าน หรือ 10 % ของงบประมาณทั้งหมด ที่ผ่านมาทางเทศบาลฯต้องนำขยะไปกำจัดที่อำเภอวารินชำราบ เสียค่าใช้จ่ายต่อเดือนกว่า 200,000 บาท จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือให้ปริมาณขยะในชุมชนลดลง การที่ชุมชนมีความรู้ เห็นความสำคัญ และลุกขึ้นมากำจัดขยะ มีส่วนร่วมดูแลชุมชนของตัวเองเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และปัจจุบันชุมชนด้ามพร้า ก็มีปริมาณขยะลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายชัชชาย เพชรพิมพ์ รักษาการผอ.รพสต.ด้ามพร้า กล่าวว่า การทำงานของชุมชนด้ามพร้า คือ ชาวบ้านนำ ส่วนราชการหนุน ชาวบ้านดำเนินการเองผ่านคณะกรรมการสภาชุมชน มีแกนนำครอบครัวคัดแยกขยะตัวอย่าง 50 ครัวเรือน และขยายผลไปเรื่อยๆ เรื่องสิ่งแวดล้อมและขยะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน การที่ชุมชนได้ลุกขึ้นมากำจัดขยะในชุมชนของตัวเอง เป็นจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพตัวเองที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน ที่โรงเรียนบ้านด้ามพร้า ก็มีการตั้งธนาคารขยะในโรงเรียน เพื่อปลูกจิตสำนึกให้นักเรียน ตระหนักถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวตั้งแต่เด็ก รวมทั้งที่วัดก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำจัดขยะ โดยจัดมุมคัดแยกขยะเป็นตัวอย่างด้วย
จากสภาพปัญหาในอดีต ที่มีขยะล้นถัง ส่งกลิ่นเน่าเหม็น ชาวบ้านรอรถเทศบาลฯมาเก็บ วันนี้เราเห็นแต่ภาพความสะอาดของบ้านเรือนและชุมชน จำนวนขยะลดลง ชุมชนน่าอยู่มากขึ้น ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของชุมชน วัด โรงเรียน และหน่วยงานภาครัฐที่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาผ่านสภาชุมชนเข้มแข็ง
อีกหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือดีๆของการสร้างชุมชนตัวเองให้น่าอยู่ ที่ชุมชนด้ามพร้า อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี