ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
ฟิทช์เชื่อว่ากลุ่ม ASP มีความเชื่อมโยงในการดำเนินงานในระดับสูง และการปรับโครงสร้างกิจการของบริษัทไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของกลุ่ม บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด หรือ ASPS เป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย ASP ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ของกลุ่ม โดย ASPS มีการใช้ชื่อบริษัทและสัญลักษณ์ร่วมกันกับบริษัทแม่ นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทของ ASPS ส่วนใหญ่ก็เป็นคณะกรรมการชุดเดียวกันกับบริษัทแม่ (ASP) ทั้งนี้ บริษัทโฮลดิ้งส์จะมีหน้าที่ในการบริหารเงินทุนและสภาพคล่องของกลุ่ม และฟิทช์เชื่อว่าไม่ได้มีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบในการเคลื่อนย้ายเงินทุนภายในกลุ่มระหว่างบริษัทลูกและบริษัทโฮลดิ้งส์
กลุ่ม ASP มีเครือข่ายทางธุรกิจในประเทศที่ดีแม้ว่าบริษัทจะไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับธนาคารพาณิชย์ใด ส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านนายหน้าค้าหลักทรัพย์ของบริษัทได้ลดลงเล็กน้อยเหลือ 3.4% ในครึ่งแรกของปี 2558 (3.8% ในปี 2557) เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นของอุตสาหกรรมนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ASP สามารถรักษาอัตราค่าธรรมเนียมเฉลี่ยที่ 0.17% ในปี 2557 ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าธรรมเนียมเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 0.14% นอกจากนี้ ASP ยังมีโครงสร้างรายได้ที่ค่อนข้างกระจายตัว โดยประมาณ 40% ของรายได้ในครึ่งแรกของปี 2558 เป็นรายได้จากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่รายได้จากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ซึ่งได้แก่ ธุรกิจวาณิชธนกิจ ธุรกิจการลงทุน และธุรกิจจัดการกองทุน
ASP ยังคงมีผลการดำเนินงานในระดับที่ดีและน่าจะสามารถรักษาระดับผลการดำเนินงานที่ดีไว้ได้อย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าอาจมีการผันผวนอยู่บ้าง บริษัทมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 15.4% ต่อปี ในครึ่งแรกของปี 2558 (18.3% ในปี 2557) บริษัทมีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ที่หลากหลาย ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้อัตรากำไรของบริษัทมีความสม่ำเสมอ ASP มีระดับหนี้สินที่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยมีอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ 46% และอัตราส่วนของเงินลงทุนในบริษัทลูกและสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (double leverage ratio) ของบริษัทโฮลดิ้งส์ (งบการเงินเฉพาะกิจการของ ASP) ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักที่ 105%
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
การลดลงอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องของอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของ ASP อาจส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทในการทำธุรกิจอื่นที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออันดับเครดิตเช่นกัน
ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดวัฎจักรอุตสาหกรรมและการที่บริษัทสามารถรักษาเครือข่ายธุรกิจให้อยู่ในระดับดีได้ต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากอุตสาหกรรมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทยมีการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น