รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ นักท่องเที่ยวสาวชาวไทยโดนแมงกระพรุนกล่อง ที่เกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้เสียชีวิต และล่าสุด เมื่อวันที่ 6ตุลาคมที่ผ่านมาได้มีนักท่องเที่ยวสาวชาวเยอรมัน ลงเล่นน้ำตอนกลางคืนและโดนแมงกะพรุนกล่อง เสียชีวิตที่เกาะสมุยอีกรายนั้น ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ มีความห่วงใยเนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม ที่ผู้ปกครองมักพาไปเที่ยวทะเล จึงขอฝากเตือนให้ระวังแมงกะพรุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นแมงกะพรุนไฟและ แมงกะพรุนกล่อง ซึ่งการเล่นน้ำทะเลนั้นไม่ควรลงเล่นน้ำหลังฝนตกและในช่วงเวลากลางคืน ถ้ารู้สึกว่าโดนแมงกะพรุน ให้รีบล้างด้วยน้ำทะเลและใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณถูกพิษ ถ้าบริเวณนั้นมีผักบุ้งทะเลให้นำใบผักบุ้งมาบดทาบริเวณที่โดนจะสามารถลดความเจ็บปวดได้ อย่าแกะหรือทุบเด็ดขาดเพราะจะยิ่งปล่อยพิษ แต่หากเป็นแมงกะพรุนพิษหรือแบบกล่องต้องรีบส่งโรงพยาบาลโดนด่วน
รศ.นพ.นภดล กล่าวว่า แมงกะพรุนกล่อง เป็นสัตว์น้ำที่อยู่อาศัยในแถบทะเลเถวอินโดจีน และทะเลแปซิฟิก มีหลายสายพันธุ์ ชนิดที่รุนแรงมากที่สุด ได้แก่ Chironex fleckeri ซึ่งพบมากที่สุดด้านเหนือของทวีปออสเตรเลีย แถบน่านน้ำของมาเลเซียพบ Chiropsalmus quadrigatus ส่วนในประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์มักพบเป็นชนิดChironex yamaguchi สำหรับในประเทศไทยสามารถพบแมงกะพรุนกล่องได้ตั้งแต่บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ฤดูที่แมงกะพรุนกล่องจะเข้าใกล้ชายฝั่ง จะต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ในออสเตรเลียความเสี่ยงจะสูงสุดช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม แมงกะพรุนชนิดนี้โปร่งแสง ทำให้มองเห็นในน้ำได้ยาก ลำตัวของChironex fleckeri (bell) เป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนกล่อง ขนาดโตเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16-24 ซม มีหนวด(tentacles) ที่มุมทั้งสี่จำนวน 15 หนวดต่อมุม ขณะว่ายน้ำหนวดจะหดตัวทำให้มีความยาวเพียง 15 เซ็นติเมตร แต่ขณะออกล่าเหยื่อหนวดจะยืดยาวได้ถึง 3 เมตร แมงกะพรุนกล่องสามารถว่ายน้ำล่าเหยื่อได้ด้วยความเร็วสูง ต่างจากแมงกะพรุนแท้ (scyphozoan) ที่จะลอยไปมารอให้เหยื่อมาสัมผัสเอง แมงกะพรุนกล่องจะล่าปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร
อันตรายจากแมงกะพรุนกล่อง เมื่อหนวดของแมงกะพรุนสัมผัสได้ถึงตัวกระตุ้นที่เป็นแรงกดร่วมกับสารเคมีที่อยู่บนผิวของเหยื่อ จะมีการฉีดสารพิษเข้าสู่ผิวของเหยื่อ เมื่อโดนพิษของแมงกะพรุนกล่องจะมีอาการปวดแสบอย่างรุนแรงทันทีในบริเวณที่โดน ส่วนใหญ่ผู้ที่โดนแมงกะพรุนกล่องจะมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางคนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ พิษจากแมงกะพรุนชนิดนี้มีความรุนแรงมาก หากบริเวณสัมผัสเกินร้อยละ 10 ของผิวหนังทั่วตัวอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 5 นาที หรืออาจจะเสียชีวิตภายในเวลา 20 นาทีหลังจากการสัมผัสแมงกะพรุนกล่อง แต่หากเกิน 20 นาทีไปแล้วยังมีชีวิตอยู่แสดงว่าอาการไม่รุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้สารพิษจากแมงกะพรุนกล่องสามารถออกฤทธิ์ได้หลายรูปแบบ เช่น ทำให้ระบบหมุนเวียนของโลหิตและปอดล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผิวหนังแพ้หรือผิวหนังตายได้ จากสถิติในประเทศออสเตรเลียพบผู้เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนดังกล่าวอย่างน้อย 63 ราย ในระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1884-1996 และเด็กจะมีโอกาสเสี่ยงเลียชีวิตมากที่สุด
สำหรับการป้องกันอันตรายจากแมงกะพรุนกล่องทำได้หลายวิธี เช่น ไม่ลงเล่นน้ำขณะที่มีแมงกะพรุน หรือเจ้าหน้าที่ชายหาด อาจจะติดตั้งตาข่ายสีแดงโอบล้อมทะเลและชายหาดเพื่อลดจำนวนแมงกะพรุน เนื่องจากแมงกะพรุนกล่องไม่ชอบสีแดง หากแมงกะพรุนไม่ได้สัมผัสกับผิวหนังของคนเรา ก็จะไม่มีการปล่อยสารพิษออกมา หรือหากเจอะเจอแมงกะพรุนกล่อง ลอยขึ้นมาติดบนชายหาด ก็ห้ามใช้มือหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไปสัมผัสแมงกะพรุนกล่องเล่น เพราะอาจจะไปสัมผัสโดนหนวดแมงกะพรุนและได้รับสารพิษจนเกิดอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยวิธีการเล่นน้ำทะเลที่ดีควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เช่น ชุดดำน้ำ หรือเอาถุงน่องบางๆ ที่สุภาพสตรีใส่มาใส่ปิดบริเวณแขนขาจะสามารถป้องกันการปล่อยพิษจากแมงกะพรุนกล่องได้ ในประเทศออสเตรเลียเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชายหาด จะใส่ถุงน่องเพื่อป้องกันตัวเองจากแมงกะพรุนกล่อง นอกจากนี้เมื่อไปเล่นน้ำทะเลควรจะมีน้ำส้มสายชูติดตัวไปที่ชายหาดด้วยเผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย
วิธีการรักษาโดยส่วนใหญ่ผู้ที่โดนแมงกะพรุนกล่องที่ผิวหนัง จะมีอาการเพียงเล็กน้อย (ขึ้นกับความกว้างของบริเวณที่โดนพิษ) แต่บางคนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในเบื้องต้นหากโดนหนวดของแมงกะพรุ่นกล่อง อย่าแกะหรือขยี้เนื่องจากหนวดยังสามารถปล่อยพิษต่อได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ให้ใช้น้ำส้มสายชู (ความเข้มข้นของกรดอะซิติคอยู่ระหว่างร้อยละ 3-10) ชะล้างบริเวณที่หนวดเกาะอยู่และบริเวณรอบ ๆ เป็นเวลา 30 วินาที ค่อยแกะเอาหนวดออกโดยใช้ผ้าปัดออก หากโดนในตา ให้ล้างด้วยน้ำเกลือ 0.9 เปอร์เซ็นต์หรือน้ำเปล่า แล้วรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูแผลและสังเกตอาการ หากมีอาการระบบหัวใจและปอดล้มเหลว จะต้องปฏิบัติการกู้ชีพโดยด่วน การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการรักษาตามอาการ ในประเทศออสเตรเลียได้มีการผลิตซีรั่มต้านพิษแมงกะพรุนกล่อง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการนำเข้าซีรั่มดังกล่าว เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่โดนพิษแมงกะพรุนกล่องยังมีไม่มากนัก ตลอดจนการใช้ซีรั่มจะต้องใช้โดยด่วนที่สุดโดยตั้งแต่เริ่มโดนพิษใหม่ ๆ จึงจะได้ผลดีเป็น ประโยชน์ และการใช้ซีรั่มสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการภาวะล้มเหลวของระบบหลอดเลือดและปอดยังไม่เป็นที่แน่ชัด นอกจากนี้การใช้ซีรั่มอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเนื่องจากผลิตจากซีรั่มของวัว
แมงกะพรุนกล่องเป็นสัตว์อันตรายที่แทบมองไม่เห็นในน้ำ แต่การเตรียมตัวป้องกันอย่างดีก่อนลงเล่นน้ำตามชายทะเล จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงจากการได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่องได้ หากโดนพิษแมงกะพรุนกล่องให้รีบใช้น้ำส้มสายชูล้างบริเวณที่โดนหนวดแมงกะพรุน แล้วรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.dst.or.th