เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามสำหรับข้อมูลการก่อกวนสายด่วน 1669 ในกรุงเทพมหานครนั้นมีข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะ ในแต่ละปีมีการโทรก่อกวนมากกว่าหมื่นครั้ง โดยศูนย์นเรนทร กรุงเทพมหานครได้ระบุสถิติการโทรก่อกวนสายด่วน 1669 ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555-2557 แยกเป็นรายปีมีข้อมูลดังนี้ ปีพ.ศ.2555 มีสายก่อกวนจำนวน 32,840 ครั้ง ปีพ.ศ. 2556 มีสายก่อกวนจำนวน 53,915 ครั้ง และ ปี พ.ศ. 2557 มีสายก่อกวนจำนวน 60,403 ครั้ง
นอกจากนี้ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร พบว่า ในปี 2558 ช่วงเดือนกรกฎาคมมีสายก่อกวน 10,078 ครั้ง เดือนสิงหาคม 10,020 ครั้ง และเดือนกันยายน 11,393 ครั้ง
"ตัวเลขของการก่อกวนทำให้เราเห็นได้ชัดว่ามีคนจำนวนมาก ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้งานสายด่วนช่วยชีวิตเมื่อยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 และคึกคะนองโดยไม่เห็นความสำคัญของอีกหลายชีวิต ผมอยากฝากถึงประชาชนว่า สายด่วน 1669 เป็นสายด่วนช่วยชีวิต การที่ญาติผู้ป่วยหรือผู้ป่วยโทรเข้ามาสายด่วนนี้จะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างทันท่วงทีสามารถต่อชีวิตของคนอีกหลายๆ คนได้ ดังนั้นจึงอยากวิงวอนให้คนที่มีพฤติกรรมโทรป่วนหยุดการกระทำเหล่านี้เสีย เพราะเมื่อวันหนึ่งหากญาติของคุณเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมา คุณจะเข้าใจถึงความสำคัญของสายด่วน 1669 อย่างแน่นอน และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคลิปวิดีโอภาพยนตร์โฆษณา "เจ็บป่วยฉุกเฉินโทร 1669 โทรฟรี แต่อย่าโทรเล่น จะส่งสารถึงประชาชนจำนวนมากในการใช้งานสายด่วน 1669 ได้ " นพ.อนุชากล่าว
ทั้งนี้ประชาชนสามารถรับชมและแชร์คลิปวิดีโอภาพยนตร์โฆษณา "เจ็บป่วยฉุกเฉินโทร 1669 โทรฟรี แต่อย่าโทรเล่น ได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊กสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติhttps://www.facebook.com/niem1669 และเว็บไซต์ยูทูบ 1669niem