นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล แม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE) กำลังการผลิตเสนอขายไฟฟ้าตามสัญญา 8 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดนครสวรรค์ จำหน่ายไฟฟ้าได้แล้วและทำให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้ทันที ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีนี้ออกมาในทิศทางที่ดี เนื่องจากโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่คือระบบ Feed in Tariff (FiT) แทนที่ระบบ Adder
สำหรับบริษัท แม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากชีวมวลซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าเสนอขาย 8 เมกะวัตต์ ที่ ตำบลวังซ่าน อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดย MWE ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แบบ Feed-in-Tariff (FiT) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวมีระยะเวลา 20 ปี
นายเชิดศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่สามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้รวม 20 เมกะวัตต์ แล้ว 2 โครงการ คือโรงไฟฟ้าช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) และโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE) นอกจากนี้ยังมีอีก 4 โครงการรวมกำลังการผลิต จำนวน 40 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP),โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG),โรงไฟฟ้าชีวมวลพัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) และมีโครงการที่อยู่ระหว่างขั้นตอน การขอใบอนุญาตมีกำลังการผลิต 46 เมกะวัตต์ คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน (PTG) รวมในปีนี้บริษัทฯ มีแผนในการก่อสร้างและผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งหมด 106 เมกะวัตต์ ได้รับใบอนุญาตแล้วในขณะนี้ จำนวนกำลังการผลิต 83 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ระบบ Feed in Tariff (FiT) 50 เมกะวัตต์ คือ MWE, MGP, TSG, PGP และ SGP และระบบ Adder 33 เมกะวัตต์ คือ CRB และ PTG (เฟส1) ซึ่งค่าไฟในระบบFeed in Tariff (FiT) จะมีอัตรากำไรสุทธิ 45-50% เมื่อเปรียบเทียบกับระบบ Adder ที่มีอัตรากำไรสุทธิ 25-30%
โดยโรงไฟฟ้าแม่วงศ์ ถือเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลโครงการแรกของ TPCH ที่ได้ขายไฟฟ้าในระบบ Feed in Tariff (FiT) ซึ่งจะทำให้เป้าหมายการผลิตของบริษัทเติบโตขึ้น 3 เท่าภายใน3 ปีจากนี้ บริษัทฯ จึงมีความเชื่อมั่นว่าแผนธุรกิจดังกล่าวจะสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดีเนื่องจากบริษัทฯ มีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องครบถ้วน อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ได้ 200 เมกะวัตต์ภายในปี 2563 ตามแผนที่วางไว้ โดยจะเน้นในพื้นที่ภาคใต้เป็นหลัก เนื่องจากมีประสบการณ์และความชำนาญในการทำงานในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ประกอบกับมีการวางกลยุทธ์บริหารจัดการเรื่องวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่เพียงพอสำหรับการดำเนินงานในระยะยาวอีกด้วย