นายคูณ ก้อนทอง ผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า เดิมชาวบ้านโนนรังทำนา ปลูกข้าว ซื้อผักและอาหารจากตลาดกิน ฝากปากท้องไว้รถพุ่มพวง 3-4 คันวิ่งเข้ามาขายอาหารในหมู่บ้าน และร้านค้าในหมู่บ้านรับผักจากภายนอกมาขายให้คนในชุมชนกิน จากการเก็บข้อมูล พริก ข่า หอม ตะใคร้ ผักสวนครัว เรียกเงินจากกระเป๋าชาวบ้านไปปีละกว่าสามแสนบาท ยังไม่รวมอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เช่น ปลา ที่ชาวบ้านต้องควักกระเป๋าซื้อถึงปีละกว่าแปดแสนบาท รวมๆต้นทุนที่คนในหมู่บ้านต้องจ่ายเพื่ออาหารในแต่ละมื้อ สูงถึงปีละกว่าหนึ่งล้านบาท
นอกจากนี้ ผลตรวจเลือดชาวบ้านออกมาเสี่ยงสูง พบสารฆ่าแมลงในเลือดกว่า 100 คน จากสมาชิก 300 คน และมากกว่า 50 คน มีอาการวิงเวียนศรีษะ เป็นผดผื่นคันจากพิษของสารเคมี ต้นทุนการทำเกษตรเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆกับหนี้สินและสารเคมีเต็มท้องนา เป็นต้นเหตุของอาหารธรรมชาติ ปลา กบ ที่ลดน้อยลงทุกวัน
ปี 2557 ได้ชวนจิตอาสาในชุมชน 30 คน ตั้งเป็นคณะกรรมการสภาชุมชน ปลูกผักเพาะเห็ดตามรั้วบ้าน เลี้ยงปลา กบตามบ่อหลังบ้าน เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน แล้วชวนเพื่อนบ้านคนอื่นๆปลูกเพิ่มขยายไปเรื่อยๆ จนครบทั้ง65 ครัวเรือน นอกจากนี้ชุมชนยังรวมกันทำโรงปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งปุ๋ยหมักและปุ๋ยอัดเม็ด แล้วแจกจ่ายกันใช้ในครัวเรือน ปีนี้ทุกบ้านจึงไม่ประหยัดต้นทุน ด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ชุมชนผลิตเอง
นางอลิสรา จันท์พิทักษ์ พัฒนากร สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโนนคูณกล่าวว่า ชุมชนโนนรังได้รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบระดับจังหวัดศรีสะเกษ ปี 2557 เพราะคนในชุมชนมีความสามัคคีกัน ร่วมแรงรวมใจกันคิดแล้วลงมือพัฒนาชุมชนตนเองทันที ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโนนคูณได้มาหนุนเสริมเรื่องกระบวนการเรียนรู้ การสร้างแกนนำและเครือข่ายให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
วันนี้รั้วหน้าบ้านถูกเปลี่ยนเป็นสวนผักกระถางปลอดสาร รถพุ่มพวง 3-4คัน ที่ขนผักจากตลาดในเมืองมาขายก็หายไปจากชุมชนด้วย ร้านค้าในชุมชนเดิมที่รับซื้อผักตลาดในเมืองมาขาย ก็เปลี่ยนเป็นรับซื้อผักในชุมชนออกไปขายตลาดภายนอก โดยเฉพาะผักกระถาง สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านถึงครั้งละ 400-500บาทต่อวัน ทำให้ชุมชนโนนรังเป็นที่รู้จักในเรื่องปลูกผักปลอดสารพิษ มีชุมชนใกล้เคียงมาศึกษาดูงานเรื่อยๆ
รถพุ่มพวงหายไป คนในชุมชนมีสุขภาพดีขึ้น เพราะกินผักที่ตัวเองปลูก ปลาที่เลี้ยงเอง หรือแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในชุมชน นอกจากนี้ชุมชนเกิดความรัก ความสามัคคี เอื้อเฟื้อแบ่งปัน และพึ่งพากันเองมากขึ้น แทนที่การพึ่งพาอาหารจากภายนอกเหมือนในอดีต