จากกรณีที่มีข่าวในสังคมออนไลน์ว่า พบสาหร่ายทำมาจากพลาสติก สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้บริโภคจนไม่กล้ารับประทานอาหารที่ทำมาจากสาหร่ายนั้น นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2552 – ปัจจุบัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจวิเคราะห์สาหร่าย จำนวน 80 ตัวอย่าง เป็นสาหร่ายที่ส่งตรวจโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ/สุ่มตรวจสินค้าดังกล่าวที่จำหน่ายในท้องตลาดและเป็นตัวอย่างจากการร้องเรียนของผู้บริโภค ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า ในตัวอย่างสาหร่ายทุกตัวอย่างที่ส่งตรวจไม่พบพลาสติก พบแต่โครงสร้างของเซลล์พืช และดีเอ็นเอของพืช ทั้งนี้ตัวอย่างสาหร่ายทั้งหมดที่ตรวจมีแหล่งผลิตจากประเทศจีน ถึงแม้ว่าผลการตรวจสาหร่ายจะไม่พบพลาสติก แต่ผู้บริโภคควรเลือกบริโภคอาหารที่มีบรรจุภัณฑ์ที่มีสภาพเรียบร้อย มีฉลากระบุแหล่งผลิตแน่นอน หากเป็นอาหารที่ไม่มี อย. ควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่ไว้ใจได้ สังเกต สี กลิ่น และเมื่อรับประทานแล้วรู้สึกว่าอาหารมีรสชาติผิดปกติ ควรหยุดรับประทาน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า สาหร่ายทะเลที่พบทั่วโลกมีกว่า 20,000 ชนิด ซึ่งแบ่งตามสีออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน สีเขียว สีแดง และสีน้ำตาล มนุษย์ใช้สาหร่ายเป็นอาหารบริโภคโดยตรง หรือนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สกัดเป็นวุ้นใช้ในอาหาร เครื่องดื่ม ใช้เป็นส่วนประกอบในเวชภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง สาหร่ายชนิดที่นิยมนำมาทำอาหาร เช่น พอไฟรา เป็นสาหร่ายสีแดง มีชื่อไทยว่า สายใบ ส่วนชาวญี่ปุ่นเรียกว่า โนริ นำมาทำเป็นแผ่นบางใช้ห่อซูชิ และเป็นชนิดเดียวกับสาหร่ายแห้งแผ่นกลมที่ใส่ในแกงจืด ซึ่งชาวจีนเรียกว่าจีฉ่าย สาหร่ายลามินาเรีย หรือคอมบุ เป็นสาหร่ายสีน้ำตาล ในญี่ปุ่นนิยมนำมาต้มเป็นน้ำสต็อกสำหรับทำซุปหรือใช้ปรุงแต่งรสอาหาร สาหร่ายอุนดาเรีย หรือวากาเมะ เป็นสาหร่ายสีน้ำตาลที่นิยมนำไปใส่ในซุป