กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ร่วมกับมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย และภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมการให้สุขภาพจิตศึกษาแก่ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ในวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2558 ตั้งแต่เวลา 8.00– 17.00 น. ณ โรงแรมตวันนา สุรวงศ์ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดต่อสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันนี้ ที่ คุณศุภจิต โทร. 02-644 5499 ต่อ 168 ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้เน้นจัดให้กับผู้ที่มีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ในการดูแลเป็นหลักก่อน แต่ก็ไม่ปิดโอกาสสำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ
นายแพทย์ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์อย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้พบว่าผู้ร่วมกิจกรรมเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งนอกจากแสดงให้เห็นถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังสะท้อนให้ถึงเห็นจำนวนผู้ป่วยที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ถือเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของผู้สูงอายุ
คุณหญิงอุไรวรรณ ศิรินุพงศ์ รองประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้องแล้ว ยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้ดูแลมีสุขภาพจิตที่ดีในการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ซึ่งถือเป็นภาระในการดูแลอย่างมาก เช่น การฝึกผ่อนคลายความเครียดให้กับตนเอง และภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการส่งเสริมองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย
ด้าน ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ กรรมการเลขานุการมูลนิธิฯ กล่าวว่า ทีมจิตแพทย์จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมพร้อมให้ความรู้และแนะนำถึงวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอย่างถูกต้อง โดยภายในงานทุกท่านสามารถเตรียมข้อซักถาม ให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ไขปัญหาการดูแลและข้อสงสัยอื่นๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์กับท่านได้
นายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า TCELS ได้สนับสนุนการจัดตั้งมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย และร่วมบริหารการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ โดยได้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยคัดกรองโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ที่ผู้ดูแลสามารถใช้ได้เอง รวมถึงแอปพลิเคชันที่ใช้โดยผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนั้น ยังมีแอปพลิเคชันที่ช่วยทดสอบความเครียดและภาระของโรคในการดูผู้ป่วยอีกด้วย ซึ่งจะมีการสาธิตการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ภายในงาน หากท่านที่สนใจสามารถ ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้