นางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้ศึกษาพฤติกรรมผู้ลงทุนภายใต้ทฤษฎีทางการเงินเชิงพฤติกรรม (behavioral finance) ซึ่งพบว่าผู้ลงทุนไม่ได้ใช้เหตุผลเป็นสิ่งเดียวในการตัดสินใจลงทุน แต่ยังมีปัจจัยอื่น เช่น อารมณ์ ความเชื่อ และทัศนคติส่วนตัว อาทิ ชอบความมั่นคงให้เงินต้นอยู่ครบ คุ้นเคยกับเงินฝาก ชอบเล่นสั้นได้ผลตอบแทนแน่นอน ชอบของแจกของแถม ไม่ชอบอ่านรายละเอียดของสินค้า ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญที่ ก.ล.ต. จะนำมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจกองทุนรวม เพื่อให้สินค้าและบริการสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ลงทุนพร้อมกับการได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม
"ก.ล.ต. จึงกำหนดเกณฑ์ให้ผู้ขายต้องจัดให้ลูกค้าทำแบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรม (suitability test) ก่อนเพื่อให้เข้าใจความเสี่ยงและได้รับคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนพร้อมการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับกองทุนในกลุ่มเดียวกัน และการเปิดช่องทางให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการผ่านเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ" ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกองทุนรวมหลายประเภทที่พัฒนาจากพฤติกรรมผู้ลงทุน อาทิ กองทุนรวมควบประกันและทริกเกอร์ฟันด์ ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายเลิกกองเมื่อได้ระดับผลตอบแทนจุดหนึ่งตามกรอบเวลาที่กำหนดซึ่งช่วงที่ผ่านมาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีการออกทริกเกอร์ฟันด์เสนอขายต่อผู้ลงทุนจำนวนมาก จากสถิติตั้งแต่ปี 2556 พบว่าทริกเกอร์ฟันด์ที่ลงทุนในประเทศจำนวน 135 กอง สร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายภายในเวลาไม่เกิน 1ปี จำนวน 48 กอง หรือประมาณ 36% โดยทริกเกอร์ฟันด์ที่ลงทุนในประเทศเฉพาะที่ออกในปี 2558 ยังไม่พบว่ามีกองใดสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย ส่วนกองที่ไปลงทุนในต่างประเทศจำนวน 132 กอง สร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายภายในเวลาไม่เกิน 1ปี จำนวน 53 กองหรือประมาณ 40% นอกจากนี้ ยังพบว่าทริกเกอร์ฟันด์มีการเก็บค่าธรรมเนียมแพงกว่ากองทุนรวมทั่วไปโดยค่าธรรมเนียม(total expense ratio: TER) ของทริกเกอร์ฟันด์อยู่ระหว่าง 1.12-4.5% เฉลี่ยอยู่ที่ 2.8% ในขณะที่กองทุนหุ้นโดยทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8%
นางดวงมน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ก.ล.ต. พบว่ามีประเด็นการเปิดเผยข้อมูล กลยุทธ์การโฆษณา และการเก็บค่าธรรมเนียม ที่อาจทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อน ก.ล.ต. จึงได้กำชับให้ บลจ.เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ชัดเจน และปรับปรุงเกณฑ์ควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อไม่ให้เบี่ยงเบนความสนใจหรือเชิญชวนลูกค้าจนหลงเชื่อและเกิดความเข้าใจผิดในวัตถุประสงค์การลงทุน นอกจากนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุงเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สามารถกำกับดูแลและคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างเหมาะสม
ก.ล.ต. จึงขอแนะผู้ลงทุนให้อ่านรายละเอียดเงื่อนไขให้เข้าใจ และพิจารณาตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบ
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก ก.ล.ต. ได้ที่โทร. 1207