ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” ที่ “BBB-/Stable”

จันทร์ ๑๙ ตุลาคม ๒๐๑๕ ๑๐:๐๘
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB-" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่มั่นคงของบริษัทในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศ ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับทั้งในโครงการก่อสร้างภาครัฐและเอกชน โครงการที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) ขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย และความสามารถในการรับงานก่อสร้างหลายประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง รวมทั้งภาระหนี้ที่สูง ความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการระยะยาว และวัฏจักรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถประมูลงานใหม่จำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ท่ามกลางภาวะแวดล้อมที่ยากลำบาก อีกทั้งเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเพิ่มความเข้มแข็งของโครงสร้างเงินทุนซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินงานในโครงการระยะยาวได้โดยที่ยังคงความสามารถในการรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่า 70% หรืออัตราส่วนเงินกู้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.3 เท่าได้ในช่วงปี 2558-2561

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้ามีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสถานะการเงินที่อ่อนแอของบริษัท ในขณะที่อันดับเครดิต/และหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้ หากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงถดถอย หรือบริษัทมีการกู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อใช้ลงทุนจนเป็นสาเหตุให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับเกินกว่า 70%

บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการมีสถานะผลงานที่มั่นคงยาวนานและเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศ บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายได้สูงสุดในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยบริษัทมีรายได้รวมในปี 2557 อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาทและ 2.39 หมื่นล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2558 สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากการมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับทั้งในโครงการภาครัฐและเอกชน ทั้งประสบการณ์และทรัพยากรที่มีอยู่ช่วยทำให้บริษัทสามารถรับงานก่อสร้างได้หลากหลายประเภท บริษัทรับงานก่อสร้างทั่วประเทศซึ่งช่วยให้บริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งนี้ จุดแข็งดังกล่าวช่วยให้บริษัทลดความเสี่ยงจากการระจุกตัวที่เกิดจากทั้งจำนวนลูกค้า ประเภทงาน และทำเลที่ตั้งโครงการ

นอกจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศซึ่งเป็นธุรกิจหลักแล้ว บริษัทยังพยายามกระจายฐานรายได้โดยการขยายงานไปในต่างประเทศและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ด้วย รายได้จากต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากโครงการก่อสร้างในประเทศอินเดียผ่านการดำเนินงานของบริษัทลูกรายหนึ่งที่บริษัทถือหุ้นส่วนใหญ่ นอกจากนี้บริษัทยังมีโครงการลงทุนระยะยาวอีก 5 โครงการ ได้แก่ โครงการเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย โครงการนิคมอุตสาหกรรมในประเทศพม่า โครงการทางด่วนในประเทศบังคลาเทศ โครงการเหมืองแร่ Bauxite และโรงงาน Alumina ในประเทศลาว และโครงการสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกในประเทศโมซัมบิก โดยในปัจจุบัน บริษัทยังไม่มีการรับรู้รายได้จากการก่อสร้างหรือมีรายได้จากโครงการเหล่านี้แต่อย่างใด เนื่องจากยังต้องใช้เวลานานในการพัฒนาโครงการ

อันดับเครดิตของบริษัทอ่อนแอลงจากความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงทั้งจากโครงการในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทรายงานผลกำไรที่ลดลงในปีที่ผ่านมา กำไรจากการดำเนินงานถูกลดทอนด้วยภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมาก บริษัทรายงานผลขาดทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทก็ถูกจำกัดจากโครงสร้างเงินทุนที่มีภาระหนี้สูงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ภาระหนี้ของบริษัทมาจากการกู้ยืมเพื่อโครงการลงทุนระยะยาวและเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนซึ่งส่งผลให้บริษัทมีภาระดอกเบี้ยจำนวนมากและมีสถานะการเงินอ่อนแอลง ในการสร้างความหลากหลายของธุรกิจทำให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงสูงจากการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะความเสี่ยงของประเทศที่เข้าไปลงทุน รวมทั้งความเสี่ยงด้านกฎระเบียบซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อประโยชน์จากการลงทุน เช่นเดียวกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างอื่น ๆ บริษัทต้องเผชิญกับวัฏจักรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทั้งนี้ ในช่วงวัฏจักรขาลงจะส่งผลกระทบต่อกระแสรายได้ของบริษัทด้วยเช่นกัน

ณ เดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมีมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบจำนวน 2.29 แสนล้านบาท โดยมูลค่างานดังกล่าวรวมโครงการสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกในประเทศโมซัมบิกมูลค่า 1.12 แสนล้านบาท รวมถึงโครงการสัมปทานทางด่วนในประเทศบังคลาเทศมูลค่า 3.78 หมื่นล้านบาท ซึ่งงานก่อสร้างหลักของทั้ง 2 โครงการยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการเหมืองหงสาในประเทศลาวมูลค่าอีก 2.52 หมื่นล้านบาทซึ่งจะทยอยรับรู้เป็นรายได้เป็นระยะเวลา 15 ปีด้วย หากไม่นับรวมโครงการสัมปทานในประเทศโมซัมบิกและโครงการทางด่วนในบังคลาเทศแล้ว มูลค่างานในมือของบริษัทจะสามารถรับรู้เป็นรายได้ประมาณ 20%-40% ของรายได้ในปี 2558-2560

สถานะทางการเงินของบริษัทในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่าประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง แม้ว่ารายได้ในครึ่งแรกของปี 2558 จะเพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ตาม อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทในครึ่งแรกของปี 2558 อยู่ที่ 5.2% ลดลงจาก 8.4% ในปี 2557 โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของ ITD Cementation India Ltd. (ITD Cem) มูลค่า 621 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ เดือนมิถุนายน 2558 ของบริษัทเท่ากับ 69% เพิ่มขึ้นจาก 66.8% ในปี 2557 จากการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้าจากโครงการรถไฟฟ้า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทในครึ่งแรกของปี 2558 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อยู่ที่ 6.85% ลดลงจาก 8.23% ในปี 2557 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งใกล้เคียงกับเงื่อนไขของหุ้นกู้ชุดหนึ่งที่ต้องไม่เกิน 2.5 เท่า

ในช่วงปี 2558-2561 ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ (ไม่รวมรายได้จากโครงการระยะยาว 5 โครงการ) อยู่ในช่วง 4.5-5.5 หมื่นล้านบาทต่อปี อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่และโดยเฉลี่ยน่าจะอยู่สูงกว่า 8% อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 65%-70% หรืออัตราส่วนเงินกู้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2-2.3 เท่า ทั้งนี้ภาระหนี้สินในระดับดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเข้าใกล้เพดานสูงสุดที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่ไม่ให้เกิน 2.5 เท่า บริษัทน่าจะสามารถสร้างกระแสเงินทุนจากการดำเนินงานได้อย่างน้อย 2,500 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับ 2,000-2,500 ล้านบาทต่อปี ยกเว้นในปี 2558 ที่ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอาจปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อการลงทุนในโครงการหงสา อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมน่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 8% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายน่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2 เท่า

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

ITD166A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB-

ITD196A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ