ขณะที่เทคโนโลยีการผ่าตัดในปัจจุบัน ความสำเร็จจากการพัฒนาเทคนิคการรักษาโรค ทำให้เกิดทางเลือกวิธีการรักษาที่เพิ่มขึ้น โดยในการผ่าตัดแพทย์จะเปิดแผลเล็ก ๆ เพียง 4-5 แผล เพื่อทำการสอดอุปกรณ์เข้าไปยึดตรึงกระดูกสันหลัง และทำการผ่าตัดแทรกผ่านเส้นใยของกล้ามเนื้อ โดยไม่ต้องเลาะกล้ามเนื้อออกจากกระดูกอีกต่อไป ผู้ป่วยจึงได้รับความบอบช้ำเพียงเล็กน้อยและใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่าวิธีการเดิม ?
ด้วยจุดมุ่งหมายในการรักษาที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับความเจ็บปวดจากการผ่าตัดน้อยที่สุด สถาบันกระดูกสันหลังโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงได้นำเทคนิค 'การผ่าตัดเชื่อมกระดูกผ่านผิวหนัง' หรือ Percutaneous Transforaminal Lumbar Interbody Fusion (PTLIF) มาใช้ในการรักษา โดยวิธีการนี้แพทย์จะยึดตรึงกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดเล็กบนผิวหนัง (key-hole surgery) พร้อมกับนำเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm) เข้ามาช่วยในการผ่าตัด โดยเครื่องมือนี้จะมีหลักการทำงานคล้ายอุปกรณ์ GPS ที่ติดรถยนต์ ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นเป็นภาพ 3 มิติตลอดระยะเวลาทำการผ่าตัด ทำให้แพทย์มีความแม่นยำในการใส่เครื่องมือเพิ่มมากขึ้น
สำหรับข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยที่เหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธี PTLIF คือกลุ่มผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังมีความเสื่อมในระดับรุนแรง หรือมีการเสียความมั่นคงของกระดูกสันหลังเกิดขึ้น
ในขั้นตอนการรักษา แพทย์จะเปิดแผลขนาดเล็กเพื่อใส่สกรูเข้าไปในกระดูก โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีช่วยเพิ่มความแม่นยำ ทั้งยังทำให้แพทย์สามารถเข้าถึงตำแหน่งของกระดูกสันหลังโดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก จากนั้นแพทย์จะทำการยึดตรึงกระดูกผ่านทางช่องเปิดเล็ก ๆ ทางผิวหนัง และทำการคลายการกดทับของเส้นประสาทผ่านอุปกรณ์คล้ายท่อโดยการมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็จะสอดอุปกรณ์ซึ่งมีส่วนกระดูกของผู้ป่วยเองอยู่ด้านในเข้าไปเพื่อให้กระดูกเชื่อมติดกันในภายหลัง โดยการผ่าตัดทั้งหมดใช้เวลาไม่นานราว 3-4 ชั่วโมง (หากไม่ปรากฏภาวะแทรกซ้อนกับผู้ป่วยระหว่างผ่าตัด) และผู้ป่วยจะสามารถเดินได้ภายหลังการพักฟื้นในระยะเวลาที่เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเชื่อมกระดูกผ่านผิวหนังด้วยคอมพิวเตอร์นำวิถีจะมีผลข้างเคียงเล็กน้อย คือผู้เข้ารับการรักษาจะได้รับรังสีมากขึ้นหากเปรียบเทียบกับการผ่าตัดด้วยเทคนิคดั้งเดิม แต่ปริมาณรังสีดังกล่าวก็นับว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยมีปริมาณน้อยกว่ารังสีที่ได้รับจากการตรวจด้วยเครื่อง CT Scan เล็กน้อย
และถึงแม้ว่าเทคนิค PTLIF นี้ จะนำมาซึ่งผลดีหลายประการต่อผู้เข้ารับการรักษา แต่ในกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ของการปฏิบัตินั้น ถือว่าเป็นเทคนิคระดับสูงซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์ โดยแพทย์ที่จะสามารถทำการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้ต้องได้รับการฝึกอบรมโดยเฉพาะ
ขณะที่ทางสถาบันกระดูกสันหลังโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งได้นำเทคนิค PTLIF มาใช้รักษาอาการกระดูกสันหลังมาแล้วเป็นระยะเวลายาวนาน และได้รับการยอมรับจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ให้เป็นผู้ฝึกอบรมเทคนิค PTLIF ให้กับศัลยแพทย์ในระดับนานาชาติ สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างศัลยแพทย์กระดูกสันหลังผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ 'การฝึกอบรมการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังผ่านผิวหนังด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี' ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการจัดอบรมการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยเทคนิคดังกล่าว โดยมีคณะศัลยแพทย์กระดูกสันหลังจากหลายประเทศในทวีปเอเชียเข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 18 คน จาก 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน ไต้หวัน อินเดีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และประเทศไทย