แนวโน้มอันดับเครดิตที่ "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่า CGIF จะขยายธุรกิจภายใต้วัตถุประสงค์และนโยบายการบริหารความเสี่ยงตามที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของ CGIF อาจได้รับแรงกดดันในทางลบได้หากระดับการให้การสนับสนุนของกลุ่มผู้ร่วมทุนปรับลดลง หรือหากความเสียหายจากการค้ำประกันทำให้ฐานะทางการเงินของ CGIF อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
CGIF ก่อตั้งในปี 2553 ภายใต้การริเริ่มของประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และธนาคารพัฒนาเอเซีย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ CGIF ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการค้ำประกันความเสี่ยงด้านเครดิตแก่ผู้ออกตราสารหนี้ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเพื่อส่งเสริมให้ผู้ออกตราสารหนี้สามารถระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคได้ด้วยสกุลเงินท้องถิ่นและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและความไม่สมดุลของระยะเวลาเงินกู้ ธนาคารพัฒนาเอเซียทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee) และบริหารเงินกองทุนทั้งหมดของ CGIF ทั้งนี้ CGIF ดำเนินธุรกิจด้วยเงินกองทุนเท่านั้นโดยไม่สามารถกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่น ๆ ได้ ยกเว้นเฉพาะเพื่อการบริหารสภาพคล่องเท่านั้น
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของ CGIF สะท้อนถึงโครงสร้างทางธุรกิจที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจภายใต้วัตถุประสงค์และหน้าที่ขององค์การ CGIF มีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านการค้ำประกันตราสารหนี้ที่เสนอขายระหว่างประเทศหรือเสนอขายในประเทศที่มีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยจากความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Spreads) ในระดับสูง
CGIF มีนโยบายค้ำประกันตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเทียบเท่ากับอันดับเครดิตสากล (International-scale Ratings) ในระดับ "BB-" หรือดีกว่า ส่วนในการลงทุนนั้น CGIF มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตสากลตั้งแต่ระดับ "AA-" ขึ้นไป
ทริสเรทติ้งมองว่าวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและหน้าที่ของ CGIF มีบทบาทสำคัญในเชิงกลยุทธ์และสร้างผลประโยชน์ร่วมให้แก่กลุ่มประเทศ ASEAN+3 ทั้งในด้านการส่งเสริมธุรกรรมในตลาดตราสารหนี้และการสร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาค เมื่อพิจารณาถึงความเข้มแข็งทางการเงินของสมาชิกหลักในกลุ่มผู้ร่วมทุนตลอดจนความสำคัญของภารกิจที่ CGIF ได้รับมอบหมายแล้ว ทริสเรทติ้งเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่ CGIF จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสมาชิกหลักในกลุ่มผู้ร่วมทุนในยามคับขัน
ณ เดือนมิถุนายน 2558 CGIF มีความสามารถในการค้ำประกันหนี้สูงสุด (Maximum Guarantee Capacity) อยู่ที่ประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยความสามารถในการค้ำประกันหนี้สูงสุดคำนวณจากผลคูณระหว่างปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ (1) ทุนที่เรียกชำระแล้วของ CGIF บวกด้วยกำไรสะสม ลบด้วยทุนสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต ทุนสำรองผลขาดทุนด้านอัตราแลกเปลี่ยน และเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่อง และ (2) อัตราส่วนการค้ำประกันสูงสุด (Maximum Leverage Ratio) ที่ 2.5 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2558 CGIF ให้บริการค้ำประกันความเสี่ยงด้านเครดิตให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้ 6 ราย (7 ตราสาร) มูลค่ารวม 505 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 28% ของความสามารถในการค้ำประกันสูงสุด
เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของ CGIF ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดอัตราส่วนการค้ำประกันสูงสุด การกำหนดวงเงินค้ำประกันที่ระมัดระวัง และแนวทางการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสารที่ CGIF จะค้ำประกันแล้ว ทริสเรทติ้งเห็นว่าฐานเงินทุนของ CGIF น่าจะเพียงพอที่จะรองรับความสูญเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการค้ำประกันได้ ทั้งนี้ ในการกำหนดวงเงินค้ำประกันนั้นจะครอบคลุมความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของภาระค้ำประกันในด้านต่าง ๆ เช่น การกำหนดวงเงินค้ำประกันรวมของผู้ออกตราสารในแต่ละประเทศ สกุลเงิน และภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดวงเงินสูงสุดที่ CGIF สามารถค้ำประกันให้แก่ผู้ออกตราสารรายใดรายหนึ่งได้อีกด้วย ฐานเงินทุนของ CGIF ในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่เข้มแข็งมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการให้บริการค้ำประกันซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าความสามารถในการค้ำประกันหนี้สูงสุด เมื่อ CGIF ขยายธุรกิจต่อไป ความสามารถของฐานเงินทุนในการรองรับความสูญเสียในภาวะวิกฤตจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสารที่ค้ำประกัน ตลอดจนระยะเวลาการค้ำประกัน และความสามารถของ CGIF ในการเรียกเก็บอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันที่เพียงพอต่อความเสี่ยงด้านเครดิตที่เกิดขึ้น
ณ สิ้นปี 2557 หลักทรัพย์ที่ CGIF ลงทุนมีค่าเฉลี่ยของ Effective Duration อยู่ที่ 1.5 ปี ทั้งนี้ CGIF ประเมินว่าในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น 1% ตลอดเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ของหลักทรัพย์ที่ลงทุน ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (Unrealized Loss) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.5% ของทุน ณ สิ้นปี 2557 ในช่วงต้นปี 2558 CGIF ได้กำหนดแผนการจัดสรรเงินลงทุนใหม่โดยจะพยายามเพิ่ม Effective Duration อย่างค่อยเป็นค่อยไปให้อยู่ในระดับ 2 ถึง 4 ปี ซึ่งจะทำให้ CGIF มีผลตอบแทนที่คาดหวังจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ CGIF มีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ในปี 2557 CGIF มีอัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุนต่อปีอยู่ที่ 1.23%
CGIF มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งมากจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องและอันดับเครดิตสูง รายได้จากเงินลงทุนและค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ CGIF คาดว่าจะมีเพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ CGIF ยังสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องด้วยการทำธุรกรรมซื้อคืนหลักทรัพย์ (Repurchase Transactions) ได้ด้วย
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการประกอบธุรกิจของ CGIF น่าจะยังต้องเผชิญกับความท้าทายในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าภายใต้การเปลี่ยนแปลงของตลาดตราสารหนี้ภูมิภาคที่ยังอยู่ในช่วงต้นของการร่วมพัฒนาและจากลักษณะของตลาดตราสารหนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอและมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ การขยายธุรกิจได้เริ่มมีข้อจำกัดจากวงเงินสูงสุดสำหรับประเทศผู้ออกตราสาร ทั้งนี้ CGIF คาดว่ามูลค่าการให้บริการค้ำประกันจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับความสามารถในการค้ำประกันสูงสุดภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยในปัจจุบันกลุ่มผู้ร่วมทุนยังไม่มีข้อตกลงร่วมว่าเมื่อถึงเวลาดังกล่าว จะทำการเพิ่มทุน ปรับเพิ่มอัตราส่วนค้ำประกันสูงสุด หรือจำกัดขนาดธุรกิจของ CGIF ให้อยู่ในระดับเดิมต่อไป
Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable