นายจงรัก รัตนเพียรรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการควบรวมและซื้อกิจการ (Merger and Acquisition: M&A) เป็นช่องทางการขยายธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งในรูปแบบธุรกรรมที่บริษัทไทยไปซื้อกิจการบริษัทในต่างประเทศ บริษัทต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการของบริษัทคนไทย และบริษัทไทยซื้อกิจการในประเทศไทย
ทั้งนี้ นักลงทุนไทยสนใจที่จะขยายการลงทุนในรูปแบบการซื้อหรือควบรวมกิจการในต่างประเทศ (Outbound M&A) เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ โดยกลุ่มเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคอันดับ 1 ที่นักลงทุนไทยสนใจเข้าไปลงทุนจากปัจจัยที่ตั้งและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียง อีกทั้งเอเซียแปซิฟิคยังเป็นภูมิภาคที่ร้อนแรงของธุรกรรม M&A จากทั่วโลก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่มีประชากรกว่า 620 ล้านคนดันให้ธุรกรรม Outbound M&A ของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2556 ที่ตัวเลข Outbound M&A จากไทย พบว่ามีมูลค่าเพิ่มจากราว 0.15% ของจีดีพีในช่วงปี 2552-2554 มาอยู่ที่1.3% ของจีดีพีหรือกว่า 175,000 ล้านบาทระหว่างปี 2555-2558 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์
นอกจากนี้ อาเซียนยังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าใน 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 4.6-4.9%โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีอัตราการขยายตัวราว 7% เทียบกับประเทศไทยที่อาจโตได้เพียง 3.2-3.6%เท่านั้น โดยคาดว่ากลุ่ม CLMV จะมีกำลังซื้อในเขตเมืองเพิ่มขึ้นจาก 6.3 ล้านล้านบาท ในปี 2556 เป็น8.05 ล้านล้านบาทในปี 2563 หรือโตถึง 4% ต่อปี CLMV จึงยังเป็นกลุ่มประเทศหลักของ Outbound M&A ของธุรกิจไทยต่อไป โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ธุรกิจไทยให้ความสนใจการเข้าซื้อกิจการ ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าบริโภคอุปโภคและอุตสาหกรรมบริการ โดยคาดว่ากลุ่มบริการจะมีจำนวนดีลสูงที่สุดขณะที่การควบรวมและซื้อกิจการของบริษัทต่างชาติที่มีต่อกิจการในประเทศไทย (Cross-Border M&A) ขยายตัวเพราะต้องการใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนเพื่อต่อยอดไปยังตลาด AEC เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค
ส่วนการควบรวมและซื้อกิจการระหว่างธุรกิจไทยกับไทย (Domestic M&A) ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ และธุรกิจด้านสุขภาพ โดยคาดว่ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องจากกระแสการขยายตัวของเขตเมือง (Urbanization) และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ทั่วประเทศ รวมถึงแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพที่มีแนวโน้มการขยายตัวของประชากรที่ใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น
นายจงรัก กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจไทยที่มีความแข็งแกร่งทั้งในด้านตราสินค้าและการดำเนินงาน และยังมีเงินสดสัดส่วนเกินสะสมสูง ควรเริ่มหาบริษัทเป้าหมายที่มีศักยภาพร่วมเป็นพันธมิตร โดยเน้นการเสริมความแข็งแกร่งของแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในอาเซียนมากยิ่งขึ้นหรือหาพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งทางด้านแบรนด์อยู่แล้วในตลาดเป้าหมาย เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสู่ตลาดที่กว้างและใหญ่ขึ้นอย่างตลาดอาเซียนที่เอื้อทั้งศักยภาพการเติบโตและประชากรจำนวนมหาศาล หรือการเข้าสู่ตลาดศักยภาพสูงในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งธนาคารกสิกรไทย พร้อมในการให้บริการและคำปรึกษาแก่ลูกค้าในทำธุรกรรมการควบรวมและซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ โดยมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจและติดตามสภาวการณ์ของอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างใกล้ชิด