ที่ผ่านมา ธนาคารเอชเอสบีซีได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแก่ WWF-ประเทศไทย และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำสงครามตอนล่างซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของสัตว์น้ำกว่า 170 ชนิด และเป็นแหล่งอาหารของชุมชนในพื้นที่ถึง 140,000 คน โดยส่วนหนึ่งของงบประมาณดังกล่าว ได้นำมาสนับสนุนกิจกรรมRiver and Wetland Watch Programme (RWWP) ภายใต้ระยะการดำเนินงาน 2 ปี ระหว่างปีพ.ศ. 2557-2559 เพื่อเปิดโอกาสให้อาสาสมัครที่มีจิตอาสา ได้มีส่วนร่วมผลักดันและรณรงค์การรักษาน้ำ เช่น การร่วมหาความรู้เกี่ยวกับป่าต้นน้ำ การตรวจสอบคุณภาพน้ำ และปลูกป่าชายเลน
แม่น้ำสงครามตอนล่าง ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ เพราะเป็นแม่น้ำสายเดียวและสายสุดท้ายที่ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆมาขวางกั้น เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของพันธุ์สัตว์น้ำเกือบ 200 ชนิด และยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านในชุมชนกว่า 140,000 คน จากการเล็งเห็นว่า น้ำมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างชุมชนที่แข็งแกร่ง สามารถนำไปสู่การพัฒนาเศษฐกิจในระดับประเทศได้ ธนาคารเอชเอสบีซีจึงได้ร่วมมือกับ WWF-ประเทศไทย ในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่างโดยสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวในโครงการ "HSBC Water Programme" ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมในวงกว้างแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อมนุษย์ แหล่งน้ำจืด และเมืองใหญ่ พร้อมทั้งร่วมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนแม่น้ำสงครามตอนล่างให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลกตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention)
สำหรับกิจกรรม "ร่วมรักษ์สายน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ ดังกล่าว ผู้บริหารและกลุ่มอาสาสมัครจากธนาคารเอชเอสบีซีได้ร่วมกันตรวจสอบคุณภาพน้ำในเขตแม่น้ำสงคราม ปลูกป่าชายเลนเพื่อช่วยกรองและกักน้ำสะอาด และมอบเงินบริจาคเพื่อซื้อแทงค์น้ำ เครื่องกรองน้ำ และบริจาคอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้แก่ สามโรงเรียนในเขตพื้นที่คือ โรงเรียนบ้านตาลปากน้ำ โรงเรียนบ้านปากยาม และโรงเรียนบ้านหาดแพง ซึ่งเด็กนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและด้อยโอกาส
นางวรนันท์ สุทธปรีดา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรธนาคารเอชเอสบีซีประเทศไทย กล่าวว่า "ดิฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เอชเอสบีซีได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม ความร่วมมือกับ WWF-ประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียในครั้งนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของเอชเอสบีซีที่มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะในด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ NGO สถาบันการศึกษาและชุมชนท้องถิ่นที่จะช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของไทยให้อย่างยั่งยืนต่อไป"
"สำหรับชุมชนที่อยู่ติดน้ำพวกเขาคิดว่าน้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แท้จริงแล้วความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำจืดมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของทุกๆชีวิต ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในป่า ริมน้ำหรือแม้กระทั่งในเมือง ความอุดมสมบูรณ์ของพวกเขาก็คือความอุดมสมบูรณ์ของพวกเราเช่นเดียวกัน การอนุรักษ์และความเข้าใจในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเราทุกคนและทุกภาคส่วนต้องใส่ใจร่วมกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะชุมชนเพียงอย่างเดียว" นายยรรยง ศรีเจริญ หัวหน้าโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์น้ำจืด WWF-ประเทศไทยกล่าวเสริม