นายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยมอบหมายให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และประกาศใช้ มอก.๙๙๙๙ เล่ม ๑-๒๕๕๖ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม ขึ้น เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๖ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน การประกอบธุรกิจ บนหลักการของความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีความรู้และคุณธรรม เพื่อความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และมีความสุข โดยองค์กรไม่จำเป็นต้องกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมือนกันทุกองค์กร แต่สามารถคิดและทำได้ด้วยตนเอง ทั้งในภาคการผลิต และการบริการ โดย มอก. ๙๙๙๙ สามารถตอบโจทย์ได้ในทุกมิติหากได้มีการนำไปใช้อย่างจริงจัง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อองค์กรอย่างยิ่ง
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนการนำ มอก. 9999 ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมในทุกภาคส่วน สมอ. ได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปสู่การปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยเผยแพร่ความรู้เรื่อง มอก. 9999 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักแก่ทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง ทั้งผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ได้รับทราบความเป็นมาของ มอก.9999 รายละเอียด และขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรฐาน มอก.9999 นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำการจัดทำ มอก.9999 (แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม) หรือโครงการ TLC มอก.9999 เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการจัดทำระบบการจัดการภายในองค์กรตาม มอก.9999 โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ ซึ่งมีผู้ประกอบการชั้นนำของประเทศไทยเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 20 ราย สำหรับบริษัท ยางโอตานิ จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย
นายเอกชัย ลิมปิโชติพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอตานิ เรเดียล จำกัด กล่าวว่า "ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้บ้างแล้ว มีการนำของเหลือมาใช้ก่อให้เกิดประโยชน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกไม้ยืนต้น ไม้กินได้ ประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงานไฟฟ้า การใช้สิ่งของให้เกิดประโยชน์สูงสุด รณรงค์ส่งเสริมให้พนักงานปลูกผักสวนครัว และส่งเสริมให้มีอาชีพเสริม ในเวลาว่างจากการทำงานเพื่อเป็นการเสริมรายได้เท่านั้น แต่เมื่อบริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการกับ สมอ. ได้เรียนรู้หลักการและวิธีการ โดยนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ และการดำเนินชีวิตของพนักงานทำให้เห็นได้ว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถปรับใช้กับภาคธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันของพนักงานได้เป็นอย่างดี
บริษัทฯ ใช้หลักคิด คือ การหาโอกาส อุปสรรค และความเสี่ยงในการดำเนินงาน ซึ่งช่วยให้องค์กร สามารถเตรียมความพร้อมที่จะผ่าฟันอุปสรรคได้ รวมถึงช่วยให้บริษัทฯ สามารถวางแผนการดำเนินงานล่วงหน้า ทั้งระยะสั้น และระยะยาวขึ้นมาอย่างเป็นระบบ
สำหรับพนักงานสามารถวางแผนการใช้ชีวิต การใช้เงิน และการออม ตามปัจเจกบุคคลที่ได้กำหนดขึ้น โดยกำหนดเป็นแผนงานการดำเนินการกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สิ่งหนึ่งที่บริษัทฯ เห็นผลได้อย่างชัดเจน คือ เรื่องของการออมเงินที่มีผู้ร่วมออมเงินมากขึ้นถึง 45% โดยเลือกที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์ และอีกส่วนหนึ่ง คือ การหาหลักประกันชีวิตหลังเกษียณ (นับจากวันที่เริ่มโครงการเดือนธันวาคม 57 จนถึงเดือน กรกฎาคม 58) ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเยี่ยม ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาพนักงานจะสนใจแต่เพียงรายได้ที่มี ณ ปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้มีการมองถึงความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต จึงขอเชิญชวนภาคอุตสาหกรรมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปใช้ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมของไทยเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ไปพร้อมๆ กับพนักงาน ผู้มีส่วนได้เสีย และพร้อมกับชุมชนรอบข้างอย่างมีความสุข"