ทั้งนี้ การจัดสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องด้านพลังงานได้รับความรู้ ความเข้าใจ ถึงสถานการณ์พลังงานในสภาวการณ์ปัจจุบัน และการนำพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างภาคพลังงานในอนาคตต่อไป
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากข้อมูลการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2557 มีปริมาณ 75,804 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.8 และคิดเป็นมูลค่าการใช้พลังงานรวม 1.8 ล้านล้านบาท โดยภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานสูงที่สุด และมีการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นกว่า 3.48% ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศจำกัด จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ในสัดส่วนที่สูง โดยกระทรวงพลังงานเองได้พยายามเดินหน้านโยบายพลังงานของประเทศ ทั้งในเรื่องจัดหา เพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างพอเพียง การปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อความเป็นธรรม การผลักดันการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งการรณรงค์ให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทย มีพลังงานใช้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
"เพื่อเป็นการหามาตรการแก้ไขป้องกันการขาดแคลนเชื้อเพลิงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเช่น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า แผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ภาครัฐ จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำแผนแม่บทด้านพลังงานของประเทศ 20 ปี (พ.ศ. 2558 - 2578) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบในกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศอย่างบูรณาการโดยมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศในระยะยาวและสามารถ ใช้เป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับการดำเนินนโยบายและการจัดทำแผนด้านพลังงานด้านต่างๆ ในอนาคต" นายประพนธ์ กล่าว
ด้าน นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคที่มีการใช้พลังงานสูงที่สุด ดังนั้น ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ตลอดจนราคาด้านพลังงานที่มีความผันผวน และไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มความรู้ ความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในเรื่องของแผนพลังงานหลักของประเทศ ตลอดจนแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่าย Smart Grid ของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 และโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
"สภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ในการประสานนโยบายและดำเนินการร่วมกับภาครัฐ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการประกอบการของภาคอุตสาหกรรม จึงพิจารณาเห็นสมควรให้มีการจัดการสัมมนาวิชาการ Energy Symposium 2015 เรื่อง "แผนพลังงานใหม่ (พ.ศ.2558 – 2579)...อนาคตของอุตสาหกรรมไทย" ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลข่าวสารด้านพลังงาน ตลอดจนแนวนโยบายของภาครัฐ เพื่อได้เตรียมความพร้อม และมีการปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน และอนาคต เพื่อสามารถดำเนินการได้สอดคล้อง และแข่งขันกับตลาดโลกได้ พร้อมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างภาครัฐ และเอกชน นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดให้มีการออกบูธนิทรรศการ "Energy Fair" โดยหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนด้านพลังงาน มาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยตรงอีกด้วย" นายวีรศักดิ์ กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-8