ผศ.ดร.กิติเดช สันติชัยอนันต์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาเรื่อง "การศึกษาในศตวรรษที่ 21" ในค่ายพัฒนาศักยภาพนักเรียน วันที่ 20 ตุลาคม 2558 ที่โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ซึ่งจัดโดย กลุ่ม ปตท. ว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้โลกเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมาย เด็กจะไม่มีความรู้ที่คงทน ยิ่งถ้าเราให้ความรู้แบบแนวดิ่ง 1เดือนเด็กก็ลืม และเพื่อให้เด็กพร้อมรับกับข้อมูลมากมายที่มีอยู่ การเรียนรู้ในปัจจุบันต้องสอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ นั่นคือ "Active Learning" ที่เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ ไปค้นหาข้อมูล และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งพบกว่าการเรียนรู้เช่นนี้เมื่อเด็กกลับมาทำซ้ำเด็กจะทำได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่มีประโยชน์มากกว่านั้นคือบุคลากรทางการศึกษา ถ้ามีเทคนิคการระบวนการแบบ Active Learning มากขึ้นจะช่วยพัฒนาครู และสถาบันการศึกษาให้มีมาตรฐาน สามารถดึงดูดผู้เรียนได้มากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ของประเทศ
"Active Learning จะสำเร็จได้ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจาก Teacher เป็น Coacher ซึ่งหากทำได้ผู้เรียนจะได้ประโยชน์เยอะมาก และภาพบรรยากาศการเรียนรู้ก็จะเปลี่ยนไป หลายชั้นเรียนอาจจะไม่มีโต๊ะ หรือมีก็ไม่ใช่โต๊ะที่หันมาหน้าห้อง ครูจะเปลี่ยนเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ห้องเรียนจะกลายเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยมากขึ้น เด็กก็จะรู้สึกอบอุ่น เกิดเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ระหว่างครูและศิษย์ เพราะเด็กมองว่าครูไม่ได้สอน แต่ครูให้ปฏิบัติ ให้คิด กลุ่มเด็กในชั้นเรียนที่มีระดับความสามารถไม่เท่ากันก็จะช่วยเสริมพลังกัน เด็กกลุ่มล่างจะผลักตนเองขึ้นมาสู่กลุ่มบนได้เร็วขึ้น ค่าระดับการเรียนรู้ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย"
ด้านนายอดุลย์ ประกอบสุข ประธานอนุกรรมการชุมชนสัมพันธ์และการสื่อความ กลุ่ม ปตท.จังหวัดระยอง กล่าวว่า วันนี้เราต้องยอมรับกันว่าประเทศยังคงพึ่งพาความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศอยู่ ทำอย่างไรให้คนไทยสามารถนำความรู้พัฒนามาประเทศได้ คำตอบคือ ต้องพัฒนากระบวนการศึกษา โดย กลุ่ม ปตท. มองว่าการศึกษาจะพัฒนาได้ต้องทำพร้อมกันทั้ง 3 มิตินั่นคือ 1.พัฒนาสถานศึกษาให้มีความพร้อมทั้งสภาพแวดล้อม และอุปกรณ์การศึกษา 2.โครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียน และ 3.ส่งเสริมครูผ่านโครงการ The Coacher เสริมพลังสร้างครู ที่ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในการจัดกระบวนการทั้งกิจกรรมละครเพื่อการเรียนรู้ , STEMs,การวิจัยในชั้นเรียน และจิตตปัญญา ด้วยมุ่งหวังให้นักเรียนได้เรียนรู้เต็มศักยภาพ
"ค่ายพัฒนาศักยภาพนักเรียนในครั้งนี้ ถือเป็นสนามให้ครู 21 ท่าน จากโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร , โรงรียนวัดมาบข่า(มาบข่าวิทยาคาร) , โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา และ โรงเรียนระยองวิทยาคมนิคมอุตสาหกรรม ที่ผ่านการอบรมจากโครงการ The Coacher เสริมพลังสร้างครู มาร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ผมรู้สึกชื่นชมครูทั้ง 21 ท่านมาก เพราะทุกท่านมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิด วิธีการ กระบวนการ และยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดการเรียนการสอนแนวใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่ผู้เรียนเป็นหลัก"
ส่วนครูบุหงา หมอยาดี โรงเรียนวัดมาบข่า(มาบข่าวิทยาคาร) กล่าวว่า ครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมโครงการThe Coacher เสริมพลังสร้างครูนั้น คิดว่าคงเหมือนการไปอบรมทั่วไป ไม่ต้องแสดงความคิดเห็นอะไร แต่พอไปถึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ครูรู้สึกประทับใจมาก ทั้งรูปแบบการอบรมและการทำกิจกรรม เมื่อนำมาทดลองใช้ในห้องเรียนเด็กก็รู้สึกสนุก เพราะเขารู้สึกว่าห้องเรียนเป็น "พื้นที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่ที่อบอุ่น" เมื่อเด็กคิดได้ว่าห้องเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้ว เขาก็จะกล้าแสดงพลังความคิดและความสามารถออกมาได้เต็มที่
"ครูก็เหมือนเด็ก ถ้ามีคนพูดให้ฟัง เราก็เบื่อ แต่การอบรมครั้งนี้เป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับเด็กและที่บ้านได้ รู้สึกประทับใจ และอยากอบรมแบบนี้อีก ไม่น่าเชื่อว่าวิทยากรจะสามารถทำให้เราเข้าใจเรื่อง STEMs ในเวลาที่สั้นมาก โดยเฉพาะทำให้เราเข้าใจว่า STEMs มันอยู่ในชีวิตเราจริงๆ และยังเข้าใจว่าการทำวิจัยไม่ได้ยากอย่างที่คิด ขอเพียงแค่เราปรับเปลี่ยนวิธีคิดเท่านั้น"
ขณะที่ครูธันยนันท์ จันเต จากโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร มีความเห็นว่า ครั้งแรกที่เข้ากระบวนการนี้สิ่งที่เจอคือ ที่นั่งเป็นแบบนี้หรือ (นั่งกับพื้น) ยิ่งกว่านั้นคือนอนก็ได้ แถมยังไม่ต้องจดอีก แม้จะมีกระดาษปากกา และสมุดไว้ให้ก็ตาม วิทยากรสอนเราจากการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เราไม่มีเวลาง่วงนอนเลย เพราะวิทยากรจะเติมเนื้อหาให้ตลอด เราต้องดึงความรู้ออกมาใช้อยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญคือได้ใช้ความรู้กับเพื่อนครูด้วยกัน "สิ่งที่ ปตท. ทำคือ ทำให้เรามีสังคมของครูไว้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แม้การอบรมจะต้องใช้เวลาวันหยุดก็จริง แต่ก็ทำให้เราได้มีเวลาอยู่กับเพื่อนครูด้วยกัน" และที่ดียิ่งกว่าคือการอบรมไม่ได้ทำครั้งเดียวจบ แต่มีการอบรมต่อเนื่องตลอดเวลา และแต่ละครั้งวิทยากรจะให้ "เครื่องมือ" และ "กระบวนการ" ที่เราสามารถนำไปใช้กับนักเรียนได้ เมื่อกลับมาถึงโรงเรียนเราก็นำมาทดลองใช้ มาบอกเล่าให้เพื่อนครูท่านอื่นฟัง พอได้ทดลองทำหากเจอปัญหาอุปสรรคครั้งต่อไปก็นำไปปรึกษาวิทยากร แล้วก็นำกลับมาทดลองใช้อีกครั้ง
"พอเอามาใช้จริง พฤติกรรมเด็กๆ เปลี่ยนไป เราเห็นรอยยิ้มเด็กมากขึ้น และยังเอาไปใช้กับครอบครัวได้ด้วย กระบวนการนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า ถ้าเรารู้จักคนที่เราจะสื่อสารด้วยจะทำให้การสื่อสารของเราเกิดผล เมื่อเขาอยากรับ เราก็อยากให้"