ผลกระทบ QE อียูรอบใหม่ และ การลดดอกเบี้ยของจีนครั้งที่ 6 ต่อตลาดการเงินโลก

จันทร์ ๒๖ ตุลาคม ๒๐๑๕ ๑๕:๔๖
วิเคราะห์ ผลกระทบของ TPP ต่อเศรษฐกิจไทย อย่าผลีผลามแต่ต้องไม่ตกขบวน มีทั้งผลได้ผลเสียต่อภาคส่วนต่างๆของไทยแตกต่างกัน ผลกระทบระยะสั้นต่อการค้าการลงทุน การย้ายฐานการผลิตยังไม่เกิดขึ้น กลับคืนสู่ประชาธิปไตยตามกรอบเวลาจะสามารถเข้าสู่กระบวนการเจรจาได้ทันเวลา

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินโลกในช่วงไตรมาสสี่ว่า คาดการณ์ว่า ตลาดการเงินโลกและตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับตัวในทิศทางขาขึ้นในช่วงไตรมาสสี่ เป็นผลทั้งจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 6 ในรอบปีของธนาคารกลางจีนและการลดการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) นอกจานี้ ตนคาดว่า ธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบีน่าจะตัดสินใจดำเนินมาตรการ QE หรือมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษโดยการเข้าซื้อสินทรัพย์และตราสารทางการเงินเพิ่มเติมในเร็วๆนี้ และ การทำ QE ครั้งใหม่นี้น่าจะมีขนาดของเม็ดเงินที่ไม่น้อยกว่าเดิมและระยะเวลาอาจยืดยาวถึงปี พ.ศ. 2560 มาตรการดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อตลาดการเงินทั่วโลก ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวในทิศทางดีขึ้น โดยที่เม็ดเงินส่วนหนึ่งจะไหลเข้ามาทางเอเชียและไทย โดยที่ไม่มีผลทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นหรือเกิดการกระตุ้นด้านการลงทุนมากเกินไป อย่างไรก็ตาม มาตรการทางด้านการเงินทั้งหมดจะส่งผลต่อการฟื้นตัวและขยายตัวของภาคเศรษฐกิจจริงหรือภาคการผลิตของโลกไม่มากนัก จึงยังไม่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมากนัก

QE ของ ECB จะทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ส่งผลลบให้ภาคส่งออกของไทยไปยุโรปได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย หากเศรษฐกิจยุโรปขยายตัวดีขึ้นจาก QE รอบใหม่จะส่งบวกต่อเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของยูโรโซนจะชดเชยผลกระทบจากยูโรอ่อนค่าที่มีต่อภาคส่งออกของไทย แต่การหยุดชะงักของการเจรจาเปิดเสรีระหว่างไทยกับอียูมีผลอย่างมีนัยยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าและบริการของไทยไปอียู

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ให้ความเห็นถึงผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและปรับลดสัดส่วนการกันสำรอง (RRR) ของธนาคารกลางจีน ว่า เป็นการสะท้อนว่าทางการจีนวิตกกังวลถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและมีความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 7% โดยที่ตัวเลขจีดีพีไตมาสสามขยายตัว 6.9% ซึ่งเป็นอัตราเติบโตต่ำสุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนี้เป็นการปรับลดเป็นครั้งที่ 6 ในระยะเวลา 1 ปี การปรับลดดอกเบี้ยจะส่งผลบวกต่อตลาดการเงินในภูมิภาคและตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย การปรับลดดอกเบี้ยจะทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเล็กน้อย สำหรับปัจจัยนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคส่งออก ส่วนการการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์อาจช่วยกระตุ้นการบริโภคการลงทุนได้บ้างแต่ไม่สามารถคาดหวังได้มากนัก เพราะมีปัญหาการบริโภคและการลงทุนเกินตัวอยู่มาก ขณะเดียวกันระบบธนาคารก็มีระดับหนี้เสียสูงขึ้น มีปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบธนาคารเงาจำนวนมาก ปัญหาฟองสบู่และอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจต้องใช้มาตรการปรับความสมดุลของระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะการปรับสมดุลในภาคอสังหาริมทรัพย์มากกว่าใช้การมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ โดยภาพรวมหากมาตรการลดดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจจีนเติบโตเพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อภาคส่งออกไทยแต่อย่าคาดหวังมากเพราะปัญหาการส่งออกไทยติดลบโดยภาพรวมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและขีดความความสามารถในการแข่งขันมากกว่าปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้วิเคราะห์ ผลกระทบของ TPP ต่อเศรษฐกิจไทยว่า อย่าผลีผลามทำข้อตกลงแต่ต้องไม่ตกขบวน มีทั้งผลได้ผลเสียต่อภาคส่วนต่างๆของไทยแตกต่างกัน ผลกระทบระยะสั้นต่อการค้าการลงทุน การย้ายฐานการผลิตยังไม่เกิดขึ้นชัดเจน กลับคืนสู่ประชาธิปไตยตามกรอบเวลาจะสามารถเข้าสู่กระบวนการเจรจาได้ทันเวลา

การที่ไทยยังไม่สามารถเข้าร่วม TPP (Trans-Pacific Partnership) ในช่วงนี้แล้วจะผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและก่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังเวียดนาม มาเลเซียนั้นอาจจะเป็นการวิตกกังวลมากเกินไป เพราะผลกระทบหากจะเกิดขึ้นน่าจะในอีก 1-2 ปีข้างหน้าหากเราไม่เตรียมการอะไรเลยหรือไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกในเวลาที่เหมาะสม การเข้าเป็นสมาชิก TPP ต้องศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบอย่าผลีผลามเป็นอันขาด ต้องเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพราะ TPP มีเรื่องเกี่ยวกับประเด็นอ่อนไหวจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรยา การคุ้มครองพันธุ์พืชและความหลากหลายทางชีวภาพ การให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ดร. อนุสรณ์ เปิดเผยอีกว่า TPP น่าจะข้อตกลงทางการค้าและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่เป็นต้นแบบในศตวรรษที่ 21 เพราะจะสร้างมาตรฐานใหม่ของระบบการค้าโลกและครอบคลุมมิติต่างๆกว้างขวางขึ้น เช่น การเปิดตลาดครอบคลุมทุกสาขา (Comprehensive Market Access) ความตกลงระดับภูมิภาคโดยสมบูรณ์ (Fully Regional Agreement) ประเด็นที่มีความคาบเกี่ยวกัน (Cross-Cutting Trade Issues) ความท้าทายใหม่ทางการค้า (New Trade Challenges) ข้อตกลงที่ปรับเปลี่ยนได้ ข้อตกลง TPP เริ่มต้นเจรจาในปี พ.ศ. 2554 ไทยได้ประกาศเจตนาเข้าร่วมเจรจาเมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 กลุ่ม TPP (สหรัฐฯ ชิลี เปรู มาเลเซีย เวียดนาม แคนาดกา เม็กซิโก สิงคโปร์ บรูไน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น) กลุ่มนี้มีส่วนแบ่งในระบบการค้าโลกราว หนึ่งในสี่ มีมูลค่าการค้ากับไทยในสัดส่วนที่สูงมากและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประเทศในกลุ่ม TPP มีบทบาทในการลงทุนในประเทศไทยสูงมากคิดเป็นสัดส่วน 55-60% ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด สหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้มีการเจรจาบนหลักทวิภาคี (Bilateral Basis) หากไทยเข้าเป็นสมาชิกและเข้าสู่กระบวนการเจรจา ไทยควรยืนบนหลักภูมิภาค (Regional Basis) เพื่ออำนาจต่อรองและควรใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ดร. อนุสรณ์ กล่าวเตือนประเด็นอ่อนไหวบางประเด็นเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเจรจา TPP ในอนาคต ว่า เนื่องจากกรอบเจรจาการค้า TPP มีลักษณะผูกมัดสมาชิกมากกว่าข้อตกลงการค้าเสรี FTAโดยทั่วไป นอกจากนี้ไทยไม่สามารถกำหนดกรอบเจรจาและข้อตกลงที่บรรลุแล้วในกรอบ TPP ทำให้ไทยเสียเปรียบในธุรกิจอุตสาหกรรมที่ไม่มีความพร้อม เช่น ภาคบริการการเงิน การลงทุน อุตสาหกรรมยาภายใน ไทยไม่สามารถใช้ข้อมูลทดลองทางคลินิกขึ้นทะเบียนยาได้ เป็นต้น โดยภาพรวมแล้วข้อตกลงทั้งเรื่องมาตรฐานทางการค้าและการส่งเสริมการค้า มาตรฐานการค้ารวมถึงมาตรฐานสินค้า การดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย TPP เป็นกลไกที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจีนก็เป็นบทบาทสูงใน RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) และประเทศอาเซียน 10 ประเทศรวมทั้งไทยเป็นสมาชิกใน RCEP อยู่แล้ว ไทยจึงต้องมียุทธศาสตร์ที่ดีเพื่อให้เกิดประโยน์จาก RCEP และ TPP โดยที่ข้อตกลงทั้งสองฉบับมีโอกาสพัฒนาสู่เขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Regional FTA ฉะนั้นไทยไม่ควรตกขบวนการเจรจา TPP โดยที่ต้องเข้าสู่การเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรยา มีความเข้มข้นกว่าข้อตกลง TRIPs ภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ WTO เชื่อว่า กรณีของไทยจะเกิดแรงต้านจากภาคประชาชนและเอ็นจีโอเช่นเดียวกับในเวียดนาม มาเลเซีย รวมทั้งประเทศที่มีนโยบายควบคุมยาในประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น นอกจากนี้ การเปิดเสรีบริการทางการเงินและประกันภัย สหรัฐฯได้ยึดหลักการเจรจาแบบ Negative List Approach ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของสหรัฐฯที่ชัดเจนว่าต้องการเปิดเสรีภาคการเงินอย่างเต็มที่ TPP ยังกำหนดให้ทุกประเทศสมาชิกต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมเดียวกันโดยไม่คำนึงถึงระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน

ดร. อนุสรณ์ คาดว่า ผลกระทบของการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียน ภายใต้ TPP และ การทำทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกาต่อการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าจีดีพีจะอยู่ที่ 2-6% ขึ้นอยู่กับสมมติฐานว่าเป็นอย่างไร ขณะที่ผลกระทบที่มีต่อระดับการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการสังคม อยู่ที่ 800-4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ก่อให้เกิดผลดีและผลเสียหลายประการ จึงถือเป็นความรับผิดชอบในทางการเมืองของรัฐบาลในการดำเนินการอย่างรอบคอบ ต้องมีท่าทีชัดเจนในการเจรจาแต่ละประเด็นว่า ประเด็นไหนจะรุกจะรับอย่างไรและจะเสนออะไรที่เป็นประโยชน์โดยรวมของสาธารณะ มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ยังได้ประเมินผลกระทบรายสาขาจากการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมเจรจาภายใต้ TPP ว่า กรณีเข้าร่วม TPP ประเด็น การค้าสินค้าและการลงทุน การเข้าร่วมจะเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสหรัฐและตลาดอื่นๆที่ไทยยังไม่ได้ทำ FTA แต่จะเป็นประโยชน์เฉพาะบางสินค้าเท่านั้นเพราะสหรัฐฯเก็บภาษีในอัตราต่ำอยู่แล้ว ดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น ผู้ผลิตในประเทศสามารถนำเข้าสินค้าขั้นกลางในราคาต่ำลงเพื่อผลิตส่งออก ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันเพิ่มขึ้นมาก อาจเกิดความเสียหายต่อภาครัฐหากมีกรณีพิพาทภายใต้ Investor-state Dispute

ผลกระทบของการไม่เข้าร่วม ประเด็น การค้าสินค้าและการลงทุน เสียโอกาสในการขยายตลาด โดยเฉพาะ ผลไม้แปรรูป อัญมณีเครื่องประดับ สินค้าเกษตรบางประเภท ผู้บริโภคเสียโอกาสในการซื้อสินค้าที่หลากหลายและถูกลง ข้อดีของการไม่เข้าร่วม คือ แรงกดดันการแข่งขันลดลง ในส่วนของภาคการเงิน หากเข้าร่วม TPP ราคาบริการภาคการเงินถูกลง ลดอำนาจกึ่งผูกขาดของกลุ่มทุนการเงินไทย เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้น ข้อเสีย คือ ระบบการเงินไทยอาจถูกครอบงำโดยทุนการเงินต่างชาติมากขึ้น และ อาจแย่งงานนักการเงินชาวไทย ในส่วนของกิจการโทรคมนาคม ข้อเสียของการไม่เข้าร่วม TPP จะทำให้ค่าบริการไม่ลดลงมาก ขาดการแข่งขันและมีอำนาจผูกขาดอยู่ ข้อดีของการไม่เข้าร่วม ลดการผูกขาดโดยผู้ประกอบการต่างชาติ

ในส่วนของกิจการบริการจัดส่ง การเข้าร่วม TPP จะทำให้กิจการไปรษณีย์ไทยเผชิญแรงกดดันการแข่งขันรุนแรง เกิดข้อจำกัดในการนำรายได้จากการผูกขาดในกิจการไปรษณีย์ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ขณะเดียวกัน การแข่งขันจะเพิ่มขึ้น ค่าบริการจะถูกลง การบริการจะหลากหลายมากยิ่งขึ้น ในส่วนเกี่ยวกับพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์ หากเข้าร่วม TPP จะเกิดความชัดเจนโปร่งใสเกี่ยวกับภาษีนำเข้าที่จัดเก็บจาก Digital Content หรือ Software หากไม่เข้าร่วม TPP ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องและการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะสิทธิบัตรยา การเข้าร่วม TPP ทำให้ผู้ผลิตยาไทยไม่สามารถใช้ข้อมูลทดลองทางคลีนิกเพื่อขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญได้ การวางตลาดยาชื่อสามัญ (Generic Drug) จะล่าช้าออกไป ทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสในการเข้าถึงยาราคาถูก เพราะจำเป็นต้องซื้อยาต้นแบบต่อไป ส่วนหากไม่เข้าร่วม โอกาสเข้าถึงยาสามัญมากกว่าและถูกกว่า แต่อาจจะลดโอกาสในการเข้าถึงยาใหม่ๆที่อาจได้รับการพัฒนาขึ้น นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดภายใต้กรอบ TPP

ส่วนประเด็นทางด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม หากเข้าร่วม TPP มาตรฐานแรงงานและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมถูกยกระดับให้สูงขึ้น คุณภาพแรงงานและสิ่งแวดล้อมย่อมปรับตัวดีขึ้น แต่จะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการไทยและอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและต้นทุนลดลงในระยะสั้น และอาจเกิดข้อจำกัดในการทำประมงทางทะเล สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การเข้าร่วม TPP ทำให้เกิดโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดภาครัฐในสหรัฐฯและประเทศสมาชิก TPP ที่ไทยยังไม่มีข้อตกลง หากไม่เข้าร่วม TPP ทำให้เสียโอกาสการเสริมสร้างความโปร่งใสอันเป็นผลมาจากการปฏิบัติตามพันธกรณีและการประหยัดงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version