อันดับเครดิต "BBB-" สะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนของไทย รวมถึงการมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษที่ครบวงจร รวมทั้งตราสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์ "ดั๊บเบิ้ล เอ" อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากธรรมชาติที่ผันผวนของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อและกระดาษ ตลอดจนความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และอุปสงค์ของกระดาษที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปใช้สื่อดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ความสำเร็จของบริษัทในการขยายตลาด การฟื้นความสามารถในการทำกำไร และธุรกรรมบางรายการระหว่างบริษัทกับบริษัทที่เกี่ยวข้องยังคงเป็นประเด็นกังวลต่ออันดับเครดิตของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวขึ้นในปี 2559 โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานใหม่และแผนพัฒนาการดำเนินงานของบริษัทน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและช่วยฟื้นความได้เปรียบด้านต้นทุนของบริษัทให้กลับมาอีกครั้งในระยะกลาง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นในกรณีที่ผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงกับระดับเดิม ในทางตรงข้ามอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลงได้ในอนาคตหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงมากกว่าเดิม
บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เป็นผู้นำในการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตกระดาษจำนวน 5 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันทั้งสิ้น 1,045,000 ตันต่อปี กำลังการผลิตกระดาษของบริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าหลังจากโรงงาน APM3 เริ่มเดินเครื่องในเดือนพฤศจิกายน 2555 และบริษัทได้ซื้อโรงงาน Alizay ในประเทศฝรั่งเศสเข้ามาในเดือนมกราคม 2556
โรงงาน APM3 มีกำลังการผลิต 220,000 ตันต่อปี โรงงานแห่งนี้ถือเป็นโรงงานผลิตกระดาษที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดเมื่อเทียบกับโรงงานผลิตกระดาษอื่น ๆ ของบริษัทโดยได้รับการออกแบบให้ใช้เยื่อใยสั้นเป็นวัตถุดิบ 100% ในขณะที่โรงงาน Alizay มีกำลังการผลิต 300,000 ตันต่อปี โดยบริษัทใช้เป็นฐานการผลิตของบริษัทสำหรับป้อนตลาดในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง อาฟริกา และอเมริกาเหนือ บริษัทจำเป็นต้องสั่งซื้อเยื่อกระดาษบางส่วนจากผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดหลังจากขยายกำลังการผลิตกระดาษเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ บริษัทมีกำลังการผลิตโรงงานเยื่อกระดาษอยู่ที่ 427,000 ตันต่อปี
บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายกระดาษคิดเป็น 98% ของรายได้รวม โดยมียอดขายกระดาษกระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาค อีกทั้งยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้มแข็งครอบคลุมมากกว่า 145 ประเทศทั่วโลก รายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายภายในประเทศ 30% ส่วนอีกประมาณ 50% มาจากตลาดในภูมิภาคเอเซีย 10% มาจากตลาดในยุโรป และ 10% มาจากตลาดในภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ ปริมาณขายกระดาษของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงต่ำกว่ากำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอยู่มาก โดยกำลังการผลิตกระดาษของบริษัทเพิ่มขึ้น 560,000 ตันต่อปี จาก 485,000 ตันต่อปี เป็น 1,045,000 ตันต่อปี ในขณะที่ปริมาณขายกระดาษเพิ่มขึ้น 135,546 ตัน จาก 533,303 ตันต่อปีในปี 2555 เป็น 668,849 ตันต่อปีในปี 2557
ผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 6% ในปี 2557 และ 5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2554-2556 ที่ 11% โดยความสามารถในการทำกำไรที่ลดต่ำลงเป็นผลมาจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่หลากหลายในราคาต่ำเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดใหม่ ๆ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จากปัญหาด้านสาธารณูปโภคและเครื่องจักรด้วยเช่นกัน
กระแสเงินสดของบริษัทลดต่ำลงตามความความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 3% ในปี 2557 และ 1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2554-2556 ที่ 11% ในขณะที่อัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงมาอยู่ที่ 1.7 เท่าในปี 2557 และประมาณ 1 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2554-2556 ที่ 2.6 เท่า แต่สภาพคล่องของบริษัทยังคงมีเพียงพอ โดยบริษัทได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ใน บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือออกไปจาก 36.2% เหลือ 25.5% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 และได้เงินเข้ามาจำนวน 2,100 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 ซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัทแม้บริษัทจะประสบปัญหาขาดทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 58% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2554-2556 ที่ 56% บริษัทมีความเสี่ยงในการก่อหนี้ใหม่เพื่อใช้คืนหนี้เดิมที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนจะขายหุ้นที่เหลืออยู่ทั้งหมดจำนวน 25.5% ใน NPS และคาดว่าจะได้รับเงินเข้ามาทั้งสิ้นประมาณ 4,300 ล้านบาทซึ่งบริษัทจะนำไปใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนธันวาคม 2558 (DA15DA) และในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (DA162A) จำนวนรวมกันทั้งสิ้น 3,500 ล้านบาท
ในช่วงระหว่างปี 2559-2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ประมาณ 24,000-26,000 ล้านบาทต่อปี อัตราส่วนกำไรน่าจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10%-12% ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตและแผนพัฒนาการดำเนินงานของบริษัท โดยแผนดังกล่าวรวมไปถึงการปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลดต้นทุนการผลิต เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2558 ไปได้และเพิ่มขึ้นเป็น 1,500-2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 10%-15% ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5-4 เท่า และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะลดลงจนต่ำกว่า 50% ภายใน 3 ปีข้างหน้า
บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) (DA)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
DA15DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB-
DA162A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB-
DA16DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB-
DA172A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 754.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB-
DA172B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,245.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB-
DA17DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB-
DA182A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,339.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB-
DA182B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,160.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable