ข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์แรงงานชาติ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2559-2563) สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย วันที่ 22 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมใหญ่อาคารบางกอกเคเบิ้ล 2

อังคาร ๒๗ ตุลาคม ๒๐๑๕ ๑๑:๐๔

รองประธานและผู้จัดทำรายงานการศึกษา

สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI) เป็นองค์กรตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ปี 2518 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำยุทธศาสตร์แรงงานใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเกิดการการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทของการเชื่อมโยงการค้า-การลงทุนจากการเปิดการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ รวมทั้งแนวโน้มการเข้าสู่ TPP (ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) อีกทั้งประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มตัวในปี 2559 ทำให้เกิดตลาดเดียวกัน (Single Market) และการเชื่อมโยงฐานการผลิตร่วมกัน (One Production Base) จากประเด็นดังกล่าวส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิต-อุตสาหกรรม การค้าและบริการซึ่งจะต้องเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายโซ่อุปทานการผลิตทั้งระดับภูมิภาคและในระดับโลก จำเป็นที่กระทรวงแรงงานและภาคแรงงานจะต้องเปลี่ยนแปลงยกระดับเพื่อสนองตอบต่อความเป็นสากลรองรับรูปแบบการค้าใหม่

นอกจากนี้ในอนาคตในปี พ.ศ.2568 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า สัดส่วนแรงงานสูงอายุจะคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ จะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังขาดแผนและยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นรูปธรรมในการรองรับปัญหาแรงงานสูงอายุที่นับจะมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาติ

จากเหตุผลข้างต้นจึงเป็นที่มาของการจัดทำยุทธศาสตร์แรงงานฯ ซึ่งจะเป็นการมองบริบทการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งการทำยุทธศาสตร์และข้อเสนอแนะได้มีการจัดทำเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่า 16 องค์กร เช่น ค้าปลีก-ค้าส่ง บริการโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม เช่น อาหารสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งสมาคมนายจ้างต่างๆ โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงและหน่วยงานรัฐต่างๆ

สรุปผลการศึกษา

ปัจจัยด้านแรงงานซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตและเป็นบริบทต่อการจัดทำยุทธศาสตร์แรงงานชาติ

แนวโน้มในอนาคตจากการเปิดเสรีในรูปแบบต่างๆทั้ง AEC, FTA และ TPP รวมทั้งมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) ในรูปแบบต่างๆ กระทรวงแรงงานจะมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งการลงทุน FDI ในอนาคตจะมีความซับซ้อน อีกทั้งการลงทุนนอกประเทศ (TDI) ของนักลงทุนไทยไปลงทุนนอกประเทศจะมีสัดส่วนที่สูงขึ้น จำเป็นที่ (1) กระทรวงแรงงานจะต้องมีการปรับตนเองให้มีความเป็นสากล (2) แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานในอนาคตจะสูงขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังไม่หลุดจากการผลิตซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับต่ำ (3) นโยบายการแปรรูปเกษตรของรัฐขาดความเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อน ในอนาคตทั้ง 5 ปีและ 10 ปี ภาคเกษตรยังต้องพึ่งพาการใช้แรงงาน

อย่างไรก็ดี (4) ปัญหาแรงงานสูงอายุจะเป็นปัญหาของประเทศในอนาคต ทั้งภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเกษตรและประมง (5) ความต้องการแรงงานในภาคการผลิตเป็นปัจจัยตัวเร่งให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน เป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ (6) การขาดแคลนแรงงานระดับวิชาชีพเฉพาะทางและสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากการผลิตนักศึกษาสาขาเหล่านี้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4-5 ปี และยังต้องใช้เวลาเรียนรู้อย่างน้อย 2-3 ปี (7) ประมวลได้ว่าปัญหาการขาดแรงงานทักษะวิชาชีพเฉพาะทางจะเป็นปัญหาสำคัญและลดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต

นอกจากนี้ (8) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไทยใน 5-10 ปีข้างหน้า จะส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตของประเทศ โดยเฉพาะแรงงานเกษตร แรงงานคนขับรถบรรทุก แรงงานประมง ฯลฯ ซึ่งอัตราการทดแทนแรงงานมีอัตราที่ต่ำมาก (9) โอกาสการโยกย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรเข้าสู่ภาคบริการ จนเลยความสมดุลและทำให้แรงงานขาดแคลนในบางสาขาอาชีพและว่างงานในบางสาขาอาชีพ (10) เศรษฐกิจไทยข้างหน้าจะพึ่งพิงการลงทุนนอกประเทศ ทำให้การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติจะทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศสูงขึ้น เป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ส่งออกย้ายฐานการผลิต ซึ่งอาจเป็นปัจจัยลบต่อจำนวนการว่างงานในอนาคตที่อาจมีปริมาณมากขึ้น

ทั้งนี้ (11) แนวโน้มอัตราค่าจ้างในอนาคตจะเร่งตัวสูงไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว (12) นอกจากนี้แนวโน้มแรงงานไทยจะมีการศึกษาสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนแต่คุณภาพกลับอยู่ในระดับรั้งท้าย เนื่องจากการผลิตของสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่เป็นเชิงพาณิชย์ ผลิตคนตามค่านิยม เน้นปริมาณ ขาดคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาของประเทศในอนาคตข้างหน้า (13) การเปิดเสรีการค้าจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง อาจทำให้อุตสาหกรรมในประเทศในอนาคตจะหาที่ยืนไม่ได้ ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตในประเทศอาจแข่งขันด้านราคาไม่ได้ และอาจนำไปสู่ปัญหาการว่างงานในอนาคต (กรณีของสหรัฐอเมริกาควรเป็นกรณีตัวอย่าง)

ยุทธศาสตร์แรงงานชาติภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง 5 ปี ข้างหน้า (พ.ศ.2559-2563)

1. การปฏิรูประบบค่าจ้างขั้นต่ำ

กฎหมายแรงงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมุ่งเน้นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและแรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งโครงสร้างแรงงานในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต โดยภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 19.7 ขณะที่ภาคบริการและภาคเกษตรมีการจ้างงานรวมกันเกือบร้อยละ 80 ซึ่งลักษณะงานจะมีความแตกต่างกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเกษตรไม่สามารถรองรับค่าจ้างและสวัสดิการแบบเดียวกับภาคอุตสาหกรรม โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้

(1) โครงสร้างค่าจ้างควรแตกต่างกันตามคลัสเตอร์การจ้างงาน (2) ควรมีการทบทวนโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำ ควรมีการปรับให้ทันต่อสถานการจ้างงานและต้องมีความหลากหลาย (3) ควรทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า ซึ่งใช้ระบบค่าจ้างแรกเข้าเป็นค่าจ้างอ้างอิงไม่ต้องปรับกันทุกปี (4) ควรมีการกำหนดว่าการปรับค่าจ้างในแต่ละปีต้องไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยอ้างอิงจากกระทรวงพาณิชย์ (5) ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรเท่ากันทั้งประเทศ เนื่องจากต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายการผลิตไปทั่วประเทศ ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมือง อีกทั้งค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน (6) ค่าจ้างขึ้นต่ำจึงควรแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่โดยอาจใช้ตามคลัสเตอร์ของกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีการแบ่งกลุ่มจังหวัดค่อนข้างชัดเจน

2. ค่าจ้างขั้นต่ำและสวัสดิการแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ควรจะมีบทบัญญัติที่แตกต่างไปจากกฎหมายแรงงานปกติ เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งชายแดนและในพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย แรงงานซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่สำหรับแรงงานต่างชาติแบบเช้ามา-เย็นกลับ รวมทั้งแรงงานไทยและต่างชาติซึ่งทำงานอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรจะมีกฎหมายแยกต่างหาก ทั้งด้านค่าจ้างขั้นต่ำ สวัสดิการและการคุ้มครองด้านสวัสดิการ ควรมีความแตกต่างไปจากแรงงานที่อยู่นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งขอบเขตอำนาจศาลแรงงานและหรือกรณีพิพาทแรงงาน

3. นโยบายแรงงานต่างชาติต้องชัดเจนและรองรับการขาดแคลนแรงงานในอนาคต

ควรมีนโยบายแรงงานต่างชาติอย่างชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับการขาดแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานไร้ทักษะ รวมทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุซึ่งจะทำให้แรงงานไทยในอนาคตขาดแคลนอย่างรุนแรง จำเป็นที่ต้องนำแรงงานต่างชาติขึ้นทะเบียนอย่างโปร่งใสไม่ใช่ซ่อนเร้นอย่างที่เป็นอยู่ แนวทางคือการพิสูจน์สัญชาติซึ่งมีปัญหาค่อนข้างมากโดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ ควรใช้ขั้นตอนการตรวจสัญชาติฝ่ายเดียวจากประเทศไทยเพราะการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศเพื่อนบ้างบางประเทศค่อนข้างมีความยุ่งยาก ทำให้แรงงานต้องออกสู่นอกระบบ และเป็นที่มาของการค้าแรงงานมนุษย์ผิดกฎหมาย

4. การป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

สถานประกอบการที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ ควรจะมีการกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อที่จะได้มีการสะดวกต่อการตรวจสอบ และควรมีการขึ้นทะเบียนและข้อกำหนดของสถานประกอบการที่มีการทำสหกิจศึกษาและการฝึกงาน ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยระยะ 5 ปีข้างหน้า ยังต้องการแรงงานไร้ทักษะมากน้อยเพียงใด จะมีนโยบายอย่างไรต่อสถานการณ์เช่นนี้ เนื่องจากการค้ามนุษย์มีอยู่ในทุกภาคส่วนไม่ใช่มีแต่เฉพาะอยู่ในภาคประมง แต่การจดทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้องยังมีอุปสรรคและขั้นตอนที่ยุ่งยาก เป็นช่องทางส่งเสริมให้เกิดการคอรัปชั่นและความไม่โปร่งใส อีกทั้งประเทศไทยถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศต้นกำเนิดและจุดหมายปลายทางรวมทั้งทางผ่านของการค้ามนุษย์ ทั้งเพื่อการใช้แรงงานและการค้าประเวณีในระดับภูมิภาค จำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขทั้งด้านความโปร่งใสของเจ้าหน้าของรัฐที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกหน่วยงาน

5. การทบทวนการคุ้มครองแรงงานให้มีความเป็นสากล

ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตรเศรษฐกิจโลก ภายใต้ข้อผูกพันการเปิดเสรีในรูปแบบต่างๆ เช่น FTA, AEC, TPP, ACEP ฯลฯ รวมทั้งมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในรูปแบบต่างๆ (NTMs) จำเป็นที่จะต้อง (1) ปฏิรูปกระทรวงแรงงานให้รองรับบริบทของการเปลี่ยนแปลง อีกทั้ง (2) การแก้ไขกฎหมายแรงงานให้มีความเป็นสากล โดยจะต้องให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถทำงานร่วมกัน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของบริบทของการแข่งขันและสอดคล้องมาตรฐานแรงงานโลกและ (3) มีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน ซึ่งจะต้องสร้างกฎเกณฑ์ให้เกิดมาตรฐานร่วมของอาเซียนในการยอมรับใบรับรองงานวิชาชีพบางประเภท (4) การสอบคุณวุฒิวิชาชีพในแต่ละสาขา จะต้องกำหนดเกณฑ์การทดสอบความรู้ความสามารถ เนื่องจากแรงงานอาเซียนเป็นแรงงานทักษะเกี่ยวข้องกับแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ทนาย ฯลฯ เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งการให้บริการอื่นๆ

6. การพัฒนาแรงงานในอนาคตต้องเน้นการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน

แนวโน้มค่าจ้างในอนาคตของไทยจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หากจะคงขีดความสามารถในการแข่งขันต้องเพิ่มความสมดุลของค่าจ้างกับผลิตภาพแรงงานซึ่งควรเป็นบทบาทหลักของกระทรวงแรงงาน เช่น การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือคุณวุฒิวิชาชีพต้องครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ อีกทั้งการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานจะต้องมีมาตรฐาน และควรร่วมมือกับสถาบันการศึกษาให้เป็นศูนย์สอบและประเมินผล โดยต้องมีมาตรฐานเหมือนกันทั้งประเทศ การปรับเปลี่ยนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็น "วิทยาลัยและหรือสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์" โดยแรงงานไม่ใช่เฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมและบริการ แต่ต้องครอบคลุมทุกมิติของการจ้างงาน โดยเฉพาะด้านค้าปลีก-ค้าส่ง ก่อสร้างและแรงงานภาคเกษตร

7. การปรับเปลี่ยนบทบาทของกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ

ควรทำหน้าที่ด้านการส่งเสริมมากกว่าการกำกับตรวจสอบ โดยการทำงานเป็นเชิงรุก เช่น การวางแผนผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้ตอบสนองตรงกับความต้องการของทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ มิติใหม่กระทรวงแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ควรเน้นพันธกิจด้านความมั่นคงเป็นหลัก อีกทั้งการมีส่วนในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตั้งแต่ระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย สายอาชีวะ และระดับปริญญาตรี รวมทั้งอบรมครู-อาจารย์ซึ่งเป็นผู้แนะแนวให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในอนาคต

นอกจากนี้ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานเฝ้าระวังด้านเศรษฐกิจ ถึงแม้นประเทศไทยจะมีอัตราว่างงานที่ต่ำ แต่หากเศรษฐกิจชะลอตัวจนถึงขั้นถดถอยติดต่อกันหลายปี อาจก่อให้เกิดการว่างงานเหมือนที่เกิดกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้ง สหรัฐอเมริกา อียูและญี่ปุ่น

8. ปฏิรูปประกันสังคม

การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนและนายจ้างเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบองค์กรและความโปร่งใส รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ควรมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ทั้งด้านคุณภาพของสถานพยาบาล คุณภาพยาและมาตรฐานการรักษาของแพทย์ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะการได้รับเงินหลังเกษียณและหรือการเกษียณตนเอง เพิ่มสิทธิประโยชน์ในอัตราที่ผู้เอาประกันจะสามารถดำรงชีพได้ และควรมีการพิจารณาการจ่ายบำนาญและบำเหน็จ โดยให้ลูกจ้างเพิ่มค่าประกันสังคมกรณีชราภาพ และรัฐบาลให้เงินสมทบเพื่อให้เกิดการออมผ่านกองทุนประกันสังคม นอกจากนี้ควรพิจารณาขยายเวลาการชราภาพของแรงงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี แต่ให้เป็นทางเลือกของผู้เอาประกัน

9. การวางแผนรองรับแรงงานสูงอายุ

ในปี 2568 สัดส่วนแรงงานสูงอายุของไทยจะเป็น 1 ใน 5 ของประชากร จะต้องมีการจัดทำยุทธศาตร์แรงงานสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับแรงงานสูงอายุในอนาคต โดยมีบทกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับผลตอบแทนของแรงงานที่เกษียณอายุ ซึ่งควรอยู่ที่ 60 ปี และให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงการขยายระยะเวลาการจ้างงาน นอกจากนี้จะต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่แรงงานสูงอายุที่เกษียณ โดยให้มีรายได้ต่อเดือนที่พอเพียงต่อการดำรงชีวิต การเข้าถึงระบบสุขภาพ การมีโรงพยาบาลของกองทุนประกันสังคม การมีศูนย์ดูแล-พักฟื้นแรงงานชราภาพทั่วประเทศ รวมถึงการฌาปนกิจแรงงานสูงอายุที่เสียชีวิต

สามารถดาวน์โหลด "ยุทธศาสตร์แรงงาน" (ฉบับเต็ม) และรายงานพิเศษ "ค่าจ้างควรปรับเป็นค่าจ้างอ้างอิง" ได้ที่ www.tanitsorat.com หรือติดต่อสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าฯ

ได้ที่ 02-651-9182-3 หรือ e-mail : [email protected]

?

?

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version