นางสาวอนุสรี กล่าวต่อว่า ในมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและถูกคุกคามทางเพศในการทำงาน นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ กำหนดให้เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานในการจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสตรี และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรในหน่วยงาน เพื่อให้ผู้หญิงปลอดภัยจากปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ และในด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิง ได้มีศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร.๑๓๐๐ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนตลอด ๒๔ ชั่วโมง เรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ และความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ มีการจัดอบรมอาสาสมัครที่ให้คำปรึกษาแก่หญิงไทยในต่างประเทศ และยังมีเว็บไซต์ www.yingthai.net สำหรับให้บริการความรู้ทางด้านกฎหมาย ให้คำปรึกษาแนะนำการดูแลสุขภาพจิต Hotlineให้บริการปรึกษาปัญหาการดำเนินชีวิตผ่านระบบ web chat, web conference ทั้งยังเป็นศูนย์ประสาน รับเรื่องร้องทุกข์ จากหญิงไทยในต่างประเทศ และประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ.๒๕๕๘ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๘ เพื่อให้มีนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองผู้ถูกละเมิดสิทธิที่มีสาเหตุ มาจากเพศ และมีกองทุนในการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา
นางสาวอนุสรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อท้าทายในการดำเนินงานด้านสตรีนั้น ยังคงเป็นเรื่องทัศนคติต่อผู้หญิง ของสังคมไทย ที่เป็นรากเหง้าของปัญหาที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถมีบทบาทในระดับตัดสินใจ โดยเฉพาะในด้านการเมือง ถึงแม้จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ซึ่งสถิติล่าสุดในเมื่อปี ๒๕๕๓ มีนายกองค์การบริหาร ส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริการส่วนตำบลเพียงร้อยละ ๙.๓ และ ๕.๖ นอกจากนั้น ผู้หญิงยังถูกละเมิดสิทธิต่างๆซึ่งที่ปรากฏชัดเจนคือเรื่องความรุนแรง ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการที่นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญของงานด้านสตรี ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้การผลักดันงานด้านสตรีมีความเป็นไปได้มากขึ้น ทั้งในเรื่องการกำหนดสัดส่วนผู้หญิงในระดับตัดสินใจ การจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิงชาย นอกจากนั้น ประเทศไทยยังได้เป็นประเทศนำในการจัดทำร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยการขจัด ความรุนแรงต่อสตรีสำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำเรียบร้อยแล้วและหวังเป็นอย่างยิ่งว่านโยบายและแผนปฏิบัติดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการดำเนินงานของประเทศในอาเซียน รวมทั้งการดำเนินการร่วมกันของประเทศอาเซียนในการขจัดความรุนแรงต่อสตรีในอนาคต