จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 27/2558 : พิจารณาการขอปรับปรุงการใช้คลื่น 2.4 GHz ของทีโอที, ทรูมูฟและดิจิตอลโฟนปฏิเสธการนำส่งรายได้ในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ

พุธ ๒๘ ตุลาคม ๒๐๑๕ ๑๖:๐๒
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 27/2558 วันพุธที่ 29 ตุลาคม 2558 มีวาระสำคัญที่น่าจับตาคือการพิจารณาคำขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.4 GHz ของ บมจ. ทีโอที โดย บมจ. ทีโอที มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2558 ขอให้ กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ช่วง 2306 – 2370 MHz ขนาดแบนด์วิธ 64 MHz เพื่อจะนำไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มเติมจากการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะชนบทที่ได้รับอนุญาตอยู่เดิม โดยจะขอใช้งานคลื่นความถี่จนถึงปี พ.ศ. 2568

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ไม่นาน สำนักงาน กสทช. ได้มีการออกประกาศ สำนักงาน กสทช. เรื่องการขอเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือเพิ่มเติมเทคโนโลยีในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในส่วนของความเป็นกลางทางเทคโนโลยี โดยประกาศ ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2558 เพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาการอนุญาตปรับปรุงโครงข่ายโดยใช้เทคโนโลยีใหม่บนคลื่นความถี่เดิมที่ได้รับการจัดสรรแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อน่าสังเกตว่า การออกประกาศดังกล่าวของสำนักงาน กสทช. อาจเป็นการกรุยทางให้กับคำขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ของ บมจ. ทีโอที เนื่องจากมีการออกประกาศก่อนหน้าที่ บมจ. ทีโอที จะมีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพียงไม่นาน ที่สำคัญไม่เคยมีการเสนอร่างประกาศให้ กทค. พิจารณามาก่อน และมิได้มีการนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งที่ประกาศฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นประกาศที่มีความเกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งควรผ่านมติที่ประชุม กทค. เสียก่อน รวมทั้งต้องมีการรับฟังความเห็นสาธารณะด้วย

ส่วนประเด็นเรื่องระยะเวลาการขอใช้งานคลื่นความถี่ของ บมจ. ทีโอที จนถึงปี พ.ศ. 2568 นั้น ก็มีประเด็นน่าสนใจว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานของสำนักงาน กสทช. ได้แก่ คณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการนำคลื่นความถี่ย่าน 2.3 GHz และ 2.6 GHz และคณะทำงานเตรียมการเพื่อเจรจาขอคืนคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้เคยมีข้อเสนอแนวทางสำหรับกรณี บมจ. ทีโอที ว่า เห็นควรเจรจาเพื่อให้คืนคลื่นความถี่บางส่วนโดยสมัครใจภายในปี พ.ศ. 2560 – 2563 โดยจะอนุญาตให้ บมจ. ทีโอที ปรับปรุงเทคโนโลยีบนคลื่นความถี่ที่เหลือเพื่อเป็นแรงจูงใจในการเจรจา แต่จนขณะนี้ บมจ. ทีโอที ยังไม่เคยมีการเสนอที่จะคืนคลื่นความถี่บางส่วนให้กับ กสทช. แต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ตามเงื่อนไขในใบอนุญาตของ บมจ. ทีโอที นั้น ไม่อนุญาตให้บริษัทขยายขอบเขตการให้บริการโดยตั้งสถานีวิทยุแม่ข่ายเพิ่มเติม แต่การขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ครั้งนี้ ย่อมต้องมีการติดตั้งโครงข่าย LTE เพิ่มเติมทั้งในเขตพื้นที่ชุมชนและชนบท ดังนั้นจึงไม่สอดคล้องกับสิทธิของ บมจ. ทีโอที ที่มีอยู่เดิมตามเงื่อนไขใบอนุญาต นั่นหมายความว่ากำลังเป็นการขอเพิ่มสิทธิ

นอกจากเรื่องการพิจารณาคำขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ของ บมจ. ทีโอที แล้ว ในการประชุมครั้งนี้มีอีกวาระที่น่าจับตาคือเรื่อง บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน ขอให้ทบทวนคำสั่งและปฏิเสธการนำส่งรายได้จากการให้บริการในช่วงบังคับใช้ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือมาตรการเยียวยาฯ ซึ่งที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 17/2558 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ได้มีมติให้ บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟนนำส่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นย่าน 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการนับตั้งแต่วันที่มีการใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ จนถึงวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ชะลอการจัดประมูลคลื่นความถี่ (16 กันยายน 2556 – 17 กรกฎาคม 2557) เป็นจำนวนเงิน 1,069,983,638.11 บาท และ 627,636,136.87 บาท ตามลำดับ เพื่อที่จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

ทั้งนี้ หนังสือขอให้ทบทวนคำสั่งของทั้งสองบริษัทระบุว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ยังไม่เคยมีโอกาสเข้าชี้แจงต่อที่ประชุม กทค. โดยตรง อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดวิธีการคำนวณรายได้และค่าใช้จ่ายของคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาความคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยในส่วน บจ. ทรูมูฟ ระบุว่า การพิจารณาต้นทุนค่าใช้จ่ายที่นำมาใช้ในการคำนวณไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะต้นทุนหลักเป็นต้นทุนคงที่ ดังนั้นแม้ยอดผู้ใช้บริการมีจำนวนลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ได้ลดลง นอกจากนี้ยังมีรายได้บางส่วนที่ไม่ได้เกิดจากการให้บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz แต่เป็นรายได้ที่เกิดจากการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ออกหาประโยชน์ จึงไม่ควรนำรายได้ส่วนนี้มาคำนวณ ขณะที่ บจ. ดิจิตอลโฟน ชี้แจงว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทประสบภาวะขาดทุนจากการให้บริการกว่า 450 ล้านบาท จึงไม่มีรายได้คงเหลือที่จะนำส่งให้สำนักงาน กสทช. ได้

ในการพิจารณาวาระนี้ ที่ประชุม กทค. คงต้องพิจารณาว่าจะรับทบทวนคำสั่งทางปกครองหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็คงขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองบริษัทมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใหม่อะไรที่จะเสนอให้พิจารณาทบทวนมติหรือไม่ เพราะลำพังประเด็นที่โต้แย้งมาเกี่ยวกับรายได้ที่ต้องนำส่งรัฐ ก็เป็นประเด็นเดิมที่เคยโต้แย้งมาแล้ว ซึ่งในกรณี บจ. ดิจิตอลโฟนไม่มีการนำส่งเอกสารหลักฐานใดๆ เพิ่มเติม จึงไม่น่ามีเหตุที่ กทค. ต้องพิจารณาทบทวนคำสั่ง ส่วน บจ. ทรูมูฟ มีการนำส่งเอกสารเพิ่มเติมจำนวนมาก ก็คงต้องใช้เวลาพิจารณาก่อนว่ามีส่วนของข้อเท็จจริงใหม่หรือไม่ หรือเป็นเอกสารหลักฐานที่บริษัทสามารถแสดงตั้งแต่ในชั้นการประชุมหารือกับคณะทำงานฯ แต่ไม่ได้นำส่ง ซึ่งหากเข้าข่ายลักษณะนี้ ก็ไม่สมควรพิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองด้วยเช่นกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version