กสทช. มีขั้นตอนการทำงานเพื่อจัดประมูลคลื่น 4จีอย่างเปิดเผยตรวจสอบได้ โดยในวันประมูล กสทช.เชิญองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศร่วมสังเกตการณ์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส เช่น สหภาพโทรคมนาคม (ไอทียู), คณะกรรมการต่อต้านการคอรัปชั่น, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช), ตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูต 6 ชาติ คือ นอร์เวย์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน
นายฐากร กล่าวย้ำอีกว่า กสทช. กำหนดเงื่อนไขและกระบวนการป้องกันการสมยอมราคา ไว้เป็นอย่างดี ส่วนที่มีความกังวลในการเลื่อนการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz มาไว้ใกล้กับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะทำให้เกิดการสมยอมราคานั้น สำนักงาน กสทช. ขอเรียนยืนยันว่าคงเป็นไปได้ยาก แต่หากตรวจสอบพบมีการสมยอมราคาเมื่อใด สำนักงาน กสทช. จะเสนอยกเลิกการประมูลทันที และจะดำเนินคดีอาญากับผู้ฮั้วประมูล ตลอดจนจะพิจารณาถึงการเป็นขาดคุณสมบัติในการรับใบอนุญาตเดิม ดังนั้น ขอฝากเรียนผู้เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ ขอให้เข้าร่วมการประมูลด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ซึ่ง สำนักงาน กสทช. จะมีการตรวจสอบทุกขั้นตอนในระหว่างนี้ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการจัดประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. ในครั้งนี้
นอกจากนั้น การประมูลครั้งนี้ เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการประมูลที่ประชาชนและรัฐจะได้รับประโยชน์โดยตรง นอกจากประชาชนจะได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในอัตราที่ถูกลงโดยเฉลี่ยแล้วจะถูกกว่าอัตราเฉลี่ยของค่าบริการ 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ให้บริการในปัจจุบันที่มีอัตราค่าบริการเฉลี่ย 69 – 72 สตางค์ต่อนาทีสำหรับบริการประเภทเสียง และบริการดาต้าที่เฉลี่ย 26 สตางค์ต่อกิกกะไบต์แล้ว ยังจะต้องมีแพ็กเกจราคาถูกสำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อย ที่มีรายได้ไม่ถึง 10,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนด้วย ส่วนรัฐจะได้รับประโยชน์โดยตรง ซึ่ง กสทช. ประเมินว่า ขั้นต่ำน่าจะได้เงินจากการประมูลรวมแล้ว 70,000 ล้านบาท
"สำนักงาน กสทช. ขอขอบคุณหลายๆ กลุ่ม และหลายๆ ฝ่าย ที่เสนอแนะข้อคิดเห็นต่างๆ มา ซึ่งสำนักงานฯ พร้อมน้อมรับข้อคิดเห็นเหล่านั้น เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้การประมูลมีความโปร่งใสและยุติธรรมมากที่สุด" เลขาธิการ กสทช. กล่าวในตอนท้าย