เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2558 นายดิษเดช หิรัญจิรคุณ ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย NMG ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนและขอให้ตั้งกรรมการมาดำเนินการเพื่อยุติกับข้อสงสัยต่างๆ ภายในวันที่ 19 ตุลาคม 2558 เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ถือหุ้น NMG และเพื่อกอบกู้ความน่าเชื่อถือของ ก.ล.ต. กับผู้ลงทุนทั้งไทยและเทศในตลาดหลักทรัพย์ไทยต่อไปในอนาคต
และในวันที่ 22 ตุลาคม 2558 ก.ล.ต. มีหนังสือแจ้งว่า "ได้รับเรื่องร้องเรียนของท่านแล้ว จะดำเนินการตามแนวทางการจัดการของสำนักงานกรณีที่มีการร้องเรียนพนักงาน โดยจะตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว"
ทางนายดิษเดชและกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย NMG เห็นว่าหนังสือของ ก.ล.ต. เพียงแจ้งว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วเท่านั้น โดยที่ยังไม่มีการแจ้งผลการดำเนินการหรือความคืบหน้าในการดำเนินการแต่อย่างใด อีกทั้ง ในกรณีที่กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย NMG ยื่นหนังสือร้องเรียนและตั้งข้อสงสัย ยังมีคำขอให้มีการแต่งตั้งกรรมการชุดอื่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่คนอื่น เข้าดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ในอันที่จะพิสูจน์ความผิดของกรรมการบริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ทุกคน แต่พนักงานเจ้าหน้าที่อาจยังมีการละเลยหรือละเว้นที่จะไม่สอบสวนพยานหรือรวบรวมพยานหลักฐานให้ละเอียด อาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติ เพื่อที่จะช่วยเหลือคณะกรรมการบริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ทั้งๆ ที่ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของ NMG แจ้งว่ากรรมการบริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ทุกคน ได้เข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ต่างก็มีส่วนร่วมกับการกีดกันผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ไม่ให้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นความผิด และเป็นการกระทำโดยทุจริต กรรมการทุกรายจึงต้องรับผิดร่วมกันทุกคน แต่ที่ปรากฏตามข่าวผลการดำเนินการของ ก.ล.ต. ไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. จะได้สอบสวนข้อเท็จจริงและกล่าวหากรรมการบริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ทุกคน ทั้งๆ ที่เป็นความผิดที่ปรากฏโดยชัดเจนไม่ได้มีความสลับซับซ้อนในการสอบสวนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
?? หากยังไม่มีความคืบหน้า หรือยังไม่มีการดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดของกรรมการบริษัท NMG ทุกคน ที่ร่วมกระทำผิดโดยทุจริต อันอยู่ในข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย NMG มีความจำเป็นที่จะต้องร้องขอความเป็นธรรม และร้องขอต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป. ตร.) เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ว่าเป็นการเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ต่อไป