(29 ตุลาคม 2558) นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยสถานการณ์การใช้พลังงาน 9 เดือนแรก ปี 2558 พบว่า ความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทยอยู่ที่ 2,646 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดับ/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ซึ่งการผลิตในประเทศลดลงร้อยละ 0.6 ส่งผลให้การนำเข้าเพิ่มสุทธิขึ้นร้อยละ 7.8 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำมันดิบที่ 882 พันบาร์เรล/วัน คิดเป็นร้อยละ 86 ของการจัดหา การใช้น้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ระดับ 142 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ส่วนใหญ่เป็นการใช้ดีเซล เฉลี่ย 59.8 ล้านลิตร/วัน และเบนซินเฉลี่ย 26.0 ล้านลิตร/วัน ส่วนการใช้LPG เฉลี่ย 564 พันตัน/เดือน ลดลงร้อยละ 9.4 ทั้งในภาคครัวเรือน ปิโตรเคมี และขนส่ง การใช้ NGV มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 2.6 เนื่องจากราคาเบนซิน และดีเซลปรับตัวลดลงส่งผลให้ผู้ใช้บางส่วนหันกลับไปใช้น้ำมันแทน
ด้านสถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 และ 3.2 ตามลำดับ โดยการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 144,045 กิกะวัตต์ชั่วโมง และการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 130,800 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี จากสภาพอากาศที่ร้อนต่อเนื่องยาวนาน และค่า Ft ปัจจุบันอยู่ที่ 46.38 สตางค์/หน่วย ทั้งนี้ตั้งแต่รอบเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2558 จะมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ทำให้ค่าไฟฟ้ารอบเดือนดังกล่าวเป็น 3.7233 บาท/หน่วย ลดลงจากปัจจุบัน 1.05 สตางค์/หน่วย
สำหรับดัชนีชีวัดด้านพลังงานพบว่า ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (EI) ของประเทศ (6 เดือนแรกของปี 58) อยู่ที่ 8.38 ktoe/พันล้านบาท โดย EI ของภาคอุตสาหกรรมลดลง ภาคบริการคงที่ ขณะที่ภาคขนส่ง ภาคครัวเรือน EI เพิ่มขึ้น การใช้ไฟฟ้าต่อหัวประชากรของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 57 อยู่ที่ 2,590 หน่วย/คน/ปี สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าได้น้อย แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
"แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นของไทยตลอดทั้งปีคาดว่าอยู่ที่ 2,640 เทียบเท่าพันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เป็นการเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทพลังงาน ยกเว้นลิกไนต์ที่มีการใช้ลดลง การใช้น้ำมันสำเร็จรูป คาดว่าเพิ่มขึ้น 1.2 จากการใช้น้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันเครื่องบิน การใช้ก๊าซธรรมชาติคาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และการใช้ไฟฟ้าคาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1" นายทวารัฐ กล่าว